จากกรณีเศร้าสะเทือนใจ หลังจ่าโทเกรียงศักดิ์ เพ่งพินิจ หมายเลข ๕๕ สังกัด พัน.ส.พล.นย. นักเรียนหลักสูตรหน่วยรบพิเศษของนาวิกโยธิน แห่งกองทัพเรือ (รีคอน) ถูกปลาเต็กเล้งพุ่งชนที่บริเวณลำคอ ขณะกำลังทำการฝึกหลักสูตรการฝึกปัญหาต่อเนื่อง 60 ชั่วโมง ในพื้นที่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยในโลกออนไลน์ต่างเกิดกระแสตื่นตระหนกและเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับปลาดังกล่าวขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ “ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เคราะห์ร้ายครับ และขออธิบายสั้นๆ ดังนี้ ปลาเต็กเล้งพบได้ทั่วไป เป็นปลาผิวน้ำ หากินปลาเล็กเป็นอาหาร ทั่วไปในที่นี้คือตามกองหิน ใกล้แหลม ตามท่าเรือ หรือตามวัสดุลอยน้ำกลางทะเล” ซึ่งปลาเต็กเล้งไม่ดุร้าย ในทางกลับกัน เป็นปลาขี้ตกใจ ตื่นกลัวคน นักดำน้ำเจอปลาเต็กเล้งเป็นประจำ ไม่ใช่ปลาหายาก แต่กรณีนี้เกิดขึ้นเฉพาะจริงจัง คาดว่าปลาคงตกใจจากจุดอื่น แล้วพุ่งหนีมาทางนี้

“ปลาไม่มีพิษ และไม่จู่โจมด้วยการพุ่งเข้าแทง เป็นเหตุบังเอิญ เท่าที่ทราบ ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นเสียชีวิตในไทย ในเมืองนอกมีอยู่บ้างที่ได้รับบาดเจ็บ แต่นานๆ ครั้ง (นานมาก) เราไม่จำเป็นต้องกลัวปลาชนิดนี้ว่าจะจู่โจมเรา สุดท้าย ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งครับ” 

ทั้งนี้สำหรับ “ปลาเต็กเล้ง” อยู่ในวงศ์ปลากระทุงเหว หรือ วงศ์ปลาเข็มแม่น้ำ (Needlefish) เป็นวงศ์ปลาในชั้นปลากระดูกแข็งวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Belonidae มีรูปร่างคล้ายปลาในวงศ์ปลาเข็ม (Hemiramphidae) แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่ามาก ปากแหลมยาวทั้งบนและล่าง และภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคม เกล็ดมีขนาดเล็ก เกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 130-350 แถว ครีบหลังมีก้านครีบแขนงประมาณ 14-23 ก้าน ครีบอกใหญ่แข็งแรง ครีบท้องมีขนาดเล็กมาก

เป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยไล่ล่าปลาขนาดเล็กกว่ารวมทั้งแมลงและสัตว์น้ำต่างๆกิน นิยมอยู่รวมเป็นฝูง หากินตามผิวน้ำ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ส่วนมากจะพบตามบริเวณชายฝั่งทะเลที่ติดกับปากแม่น้ำ จึงจัดเป็นปลาน้ำกร่อยอีกจำพวกหนึ่ง ส่วนการแพร่ขยายพันธุ์นั้น จะวางไข่ติดกับวัสดุต่างๆใต้น้ำ ไข่มักจะมีเส้นใยพันอยู่รอบๆ และใช้เวลาประมาณ 6-9 วันถึงจะฟักเป็นตัว นับว่านานกว่าปลาในวงศ์อื่นมาก ลูกปลาในวัยอ่อนส่วนปากจะยังไม่แหลมคมเหมือนปลาวัยโต

นอกจากนี้ ยังเป็นปลาที่สามารถกระโดดจากผิวน้ำได้สูงมาก ขนาดใหญ่ที่สุดพบยาวถึง 120 ซม. นิยมตกกันเป็นเกมกีฬา โดยมีชื่อเรียกเฉพาะในวงการตกปลาว่า “ปลาเต็กเล้ง” บางชนิดมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เช่น ปลากระทุงเหวเมือง (Xenentodon canciloides)…

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thon Thamrongnawasawat,@SiamFishing,@FishingEZ
,@Wassana Nanuam,@wikipedia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง..

รีคอนถึงฆาตเจอ”ปลาเต็กเล้ง”พุ่งชนคอดับขณะฝึก