จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย พบยอดผู้ป่วยจากหลักสิบ หลักร้อย สู่หลักพันในวันที่ 14 เม.ย. ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 1,335 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 35,910 รายแล้วนั้น หลายๆ คนคงจะเกิดข้อสงสัยว่า หาก “ตรวจเจอโควิด-19” แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” มีข้อมูลมาฝากกัน

เมื่อ “ผลตรวจออกมาเป็น positive หรือผลบวก” คือติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลทันที
เช็กเลย!อัพเดทล่าสุด ตรวจ’โควิด-19’ฟรีที่ไหนบ้าง?

ขั้นตอนเข้ารับรักษาโควิด-19 กับโรงพยาบาล
นาทีที่รู้ว่าป่วยโควิด-19 คุณจะกลายเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และ “มีเจ้าหน้าที่ขับรถมารับผู้ป่วยที่บ้านเพื่อนำผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล” โดยโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะมีทั้งโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน หากเลือกเข้ารักษากับโรงพยาบาลรัฐ จะถูกส่งตัวไปรักษาตามที่ทางรัฐกำหนดให้

โดยการเลือกเข้ารักษาในโรงพยาบาลนั้น “ควรเลือกโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการรักษาของตนเองก่อน” เช่น มีประกันสุขภาพเอกชนส่วนตัว ให้ใช้สิทธิประกันสุขภาพส่วนตัว แต่ถ้าไม่มีประกันสุขภาพจะต้องใช้โรงพยาบาลที่อยู่ในเครือประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมเช็กจำนวนเตียงที่รองรับกับทางโรงพยาบาลก่อนเสมอ

กรณีที่เตียงไม่พอ
สายด่วน 1330 โดย สปสช.ช่วยทำหน้าที่ประสานจัดหาเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับกรมการแพทย์ และ สพฉ. ร่วมจัดหาเตียง 
สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 กรณีโรงพยาบาลตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีเตียงรองรับ พร้อมรถ สพฉ.ช่วยรับส่งผู้ติดเชื้อ

วิธีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำอย่างไร
1.แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปพักในห้องแยกโรคเดี่ยวหรือห้องเฉพาะผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 พร้อมประเมินอาการ และรักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดทั่วไป
2.ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัสในปริมาณที่เหมาะสมกับของแต่ละคน 
3.ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น จะถูกย้ายไปที่ห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ (AIIR) และมีแพทย์คอยดูแล เฝ้าระวัง ติดตามอาการ และรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น
4.หากผู้ป่วยอาการดีขึ้น จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้งหลังเข้ารับการรักษาแล้วมีอาการดีขึ้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบ (ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19) และตรวจเพื่อยืนยันผลเป็นครั้งที่ 2 (ระยะห่างจากการตรวจแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง) ก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้

ตัวยาที่ใช้ในการรักษาโควิด-19
โดยข้อมูลจาก “กรมควบคุมโรค” ได้ระบุไว้ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ประเทศจีนให้การรับรองการใช้ยา Favilavir ในการรักษา COVID-19 นอกจากนี้มีรายงานการใช้ยาหลายขนาน เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ (lopinavir ร่วมกับ Ritonavir) ใช้ร่วมกับยาต้านไข้หวัดใหญ่, ยาต้านไข้มาลาเรีย (คลอโรควิน), สำหรับยา Remdesivir มีการพบว่าใช้ได้ผลในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองที่ติดเชื้อ SARS และ MERS ทั้งหมดนี้ยังต้องได้รับการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการรักษาที่เชื่อถือได้ ในการรักษาแนะนำให้รักษาในโรงพยาบาลโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น เพื่อให้ได้ผลในการรักษาอย่างเต็มที่และป้องกันผลข้างเคียงอันตรายจากยา

โรงพยาบาลสนามอีกทางเลือกรักษาโควิด-19 มีที่ไหนบ้าง
“โรงพยาบาลสนาม” คือ สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลซึ่งเกินศักยภาพการจัดระบบบริการ ในการรองรับผู้ป่วย ทั้งนี้การจัดตั้งจะตั้งนอกสถานพยาบาล ขึ้นกับการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบใน พื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน โรงยิม หรือ หอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น
หนุ่มรีวิว’โรงพยาบาลสนาม’ เตรียมตัวก่อนต้องอยู่จริง!

กทม.ได้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ 4 แห่ง ประกอบด้วย 
1.โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 500 เตียง 
2.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา รองรับได้ 200 เตียง 
3.สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้วันที่ 13 เม.ย.นี้
4.ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก รองรับได้ 350 เตียง ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงสถานที่ 
-ทั่วประเทศเตรียมรพ.สนาม รับมือผู้ติดเชื้อโควิด-19

ทั่วประเทศเตรียมรพ.สนาม รับมือผู้ติดเชื้อโควิด-19

สำหรับแผนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของกระทรวงโหม จากการสนับสนุนของเหล่าทัพ เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลโดยรอบ (ระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพ) ได้แก่

  1. ปตอ.1 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (แจ้งวัฒนะ) จังหวัดกรุงเทพฯ จำนวน 200 เตียง
  2. สนามมวยค่ายบุรฉัตร กองพลทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 100 เตียง
  3. สนามกีฬากลาง กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 400 เตียง
  4. โรงพลศึกษา ศูนย์พัฒนาการกีฬา กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 120 เตียง
  5. โรงรถ กองพันทหารช่าง กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 120 เตียง
  6. ศูนย์ฯ 8 (วัฒนาแฟคทอรี 2) จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 1,000 เตียง
  7. ศูนย์ฯ 9 (บ.วิท วอเตอร์ฯ ) จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 485 เตียง
  8. ศูนย์ฯ 10 (สภาอุตสาหกรรม) จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 500 เตียง
  9. ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 150 เตียง
  10. รร.การบิน อาคารแผนกฝึก (ทอ.) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จำนวน 120 เตียง

สถานที่ต่างๆ ที่สามารถเป็นโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม  หากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนเตียงทั้งหมด 470 เตียง 
-จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 280 เตียง ขึ้นที่บริเวณห้องโถงนิทรรศการ 1 ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่…

ขอบคุณข้อมูลจาก @กรมควบคุมโรค