จากกรณีโลกออนไลน์เกิดกระแสแชร์ข้อมูลว่ากำลังมีการระบาดของ “โรคไข้หัดแมว” ในพื้นที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ จนน้องเหมียวทยอยตายไปแล้วนับร้อยตัว โดยอาการก่อนตายคือ จะซึมเหงา ไม่กินข้าว มีน้ำลายยืดเหนียวๆ จนกลายเป็นความกังวลใจของเหล่าคนรักแมวนั้น

สำหรับ “โรคไข้หัดแมว” นั้น ทางด้าน อ.น.สพ.จตุพร หนูสุด ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ความรู้เอาไว้ว่า โรคไข้หัดแมวนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัส (feline parvovirus) มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว (แต่ไม่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ เหมือนไข้หวัดแมวนะครับ) มีรายงานการพบโรคนี้นานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูล ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทำให้สัตว์มีอาการ “คล้ายเป็นหวัดและท้องเสีย” ซึ่งมีอาการเหมือนโรคไข้หัดสุนัข หรือโรคดิสเท็มเปอร์ ของสุนัข จึงมีคนเรียกชื่อต่างๆ มากมาย เช่น “โรคไข้หัดแมว” (Cat distemper) และ “โรคลำไส้อักเสบในแมว” (Feline Parvovirus Enteritis)

โรคไข้หัดแมวนี้จะรุนแรงมากในแมวอายุน้อย โดยมีอาการที่สำคัญที่พบคือ มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย และมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมว และทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ส่วนในลูกแมวโตเมื่อเกิดการติดเชื้อระยะหนึ่งแล้วร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ก็จะอาการดีขึ้น แต่แมวที่หายจากโรคใหม่ๆ สามารถพบเชื้อไวรัสออกมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวตั้งท้องอาจแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้

การติดโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
แมวสามารถติดโรคไข้หัดแมวได้จากการติดต่อโดยตรงจากแมวป่วยไปยังตัวอื่น โดยเฉพาะทางอุจจาระ ภาชนะใส่อาหาร น้ำ กรงหรือที่ขับถ่ายของแมว พื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัส นอกจากนี้อาจเป็นเสื้อผ้าหรือรองเท้า การแพร่โรคได้ง่ายขึ้นระหว่างแมวที่เลี้ยงปนกันหลายๆ ตัว

อาการของแมวที่เป็นไข้หัดแมว
โรคไข้หัดแมว มีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยส่วนใหญ่ตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% แมวป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า “Feline Panleukopenia” เมื่อคลำบริเวณช่องท้องจะเจ็บท้อง บางทีพบเป็นลำของลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว

เมื่อแมวของท่านเป็นโรคไข้หัดแมวควรทำอย่างไร
ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหารเลย มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียทรุดโทรมมาก สัตว์อาจอยู่ในสภาพช็อกได้ แนวทางการรักษาโรคนี้คือ การรักษาตามอาการและพยุงชีวิตให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารน้ำ (Fluid therapy) และฉีดยาร่วมด้วย โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจฉีดยาระงับการอาเจียนและลดการทำงานของลำไส้ โดยการงดอาหารและน้ำ ให้วิตามินบีรวมโดยการฉีดเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง มีแต่การรักษาเพื่อประคับประคองชีวิตเท่านั้น

ควรระวังแมวที่ยังไม่เป็นโรคไข้หัดอย่างไร
ควรรีบแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ และต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เจ้าของแมวที่เพิ่งมีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมวใหม่ๆ ไม่ควรนำลูกแมวที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาเลี้ยงอีก

การป้องกันแมวที่คุณรักไม่ให้เป็นโรคไข้หัดแมว
โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวจำหน่ายหลายยี่ห้อ และยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย คือ ใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกสัตวแพทย์ทั่วๆ ไป ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยใช้โปรแกรมเดียวกับแมวเลี้ยงดังนี้

โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว
เข็มที่ 1 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 เดือน
เข็มที่ 2 ฉีดเมื่อลูกแมวอายุ 2 ½ เดือน
เข็มที่ 3 ฉีดทุกปี ปีละเข็ม

โรคไข้หัดแมวนี้ สามารถติดต่อถึงคนได้หรือไม่  “โรคไข้หัดแมวนี้ เป็นโรคเฉพาะสัตว์ในตระกูลแมวเท่านั้น ไม่มีรายงานติดถึงคน เพราะฉะนั้นโรคไข้หัดแมวไม่ติดถึงคนครับ”

ขอบคุณข้อมูลจาก เอกสารการประกวดสุนัขและแมว งานเกษตรแฟร์ 49 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.