ตามที่มีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมตัดคัดค้านร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ที่อาคารรัฐสภา เกียกกายนั้น  เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.  ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกำลังอยู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงถือว่าหมดหน้าที่ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวที่อยากให้ปรับปรุงแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก กำหนดให้วิชาชีพครู เป็น วิชาชีพชั้นสูง ประเด็นที่สอง แก้ไขคำว่า ” หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น”ผู้บริหารสถานศึกษา” และประเด็นที่สาม แก้ไขคำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ” ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  และศธ.มีข้อสรุปให้ปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ..ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวแล้ว

เลขาธิการสกศ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้หากมีร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ฉบับประชาชนเกิดขึ้นทุกคนก็มีสิทธิที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ที่ศธ.เป็นผู้จัดทำนั้นเป็นไปตามกฎหมายปฎิรูปการศึกษาที่ต้องเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรไม่พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จนถูกตีตกไป โดยขั้นตอนต่อไปสภาฯก็ต้องนำเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และครม.ก็จะส่งกลับมาสอบถามความเห็นด้วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นคงต้องรอให้สภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อน

“สิ่งที่ศธ.จะจะดำเนินการตามร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายลำดับรอง ทั้งพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายหลักที่จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับแต่ละหน่วยงานไว้แล้ว  โดยศธ.พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้” ดร.อำนาจ กล่าว