นายนเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจ  ไทยแลนด์ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เซอร์เวย์ 2021 (Thailand Digital Transformation Survey 2021)  เพื่อศึกษาแนวทาง ปรับตัวไปสู่ดิจิทัลขององค์กรในไทย โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ ในประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจพบว่า  ธุรกิจการเงิน และธุรกิจการดูแลสุขภาพ มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรง และเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้เกิดการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน รวดเร็วยิ่งขึ้น โดย บริษัทส่วนใหญ่ จำนวน 56  % ได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการปรับองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล หลังจากการระบาดของโควิด-19  จากจำนวน 12% ก่อนหน้าที่จะมีการระบาด

โดยมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในองค์กร เพิ่มสูงขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 เช่น การใช้คลาวด์เทคโนโลยี เพิ่มขึ้น 19% อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (Internet of Things) หรือ ไอโอที เพิ่มขึ้น 16 % และ แอพพลิเคชั่นมือถือเพิ่มขึ้น 15 % การเพิ่มขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคธุรกิจทั่วประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามธุรกิจทั้งสองกลุ่มพบปัญหาเหมือนกันในเรื่อง การคัดสรรพนักงานตำแหน่งที่เกี่ยวกับดิจิทัล คือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล   นักวิเคราะห์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการตลาดดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายที่สุดของทุกบริษัท

นายนเรนทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ธุรกิจอุปโภคบริโภคถือเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยี มาใช้ในองค์กร เช่น เว็บไซต์, แอพพลิเคชันบนมือถือ และคลาวด์ ตั้งแต่ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แซงหน้า ธุรกิจเทเลคอม สื่อและเทคโนโลยี ในแง่การนำเทคโนโลยีขึ้นสูงมาใช้ในองค์กร เช่น บล็อกเชน, ปัญญาประดิษฐ์ (AI)   และ ไอโอที โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่มีการใช้เอไอ มีเพียง 4 % และเพิ่มขึ้นเป็น 35% หลังจากมีการระบาด

ด้าน นาย วินเน่ย์ โฮรา พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ประเทศไทย กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญในทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ไม่ใช่เรื่องของตัวเทคโนโลยีเองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม อุปสรรคสำคัญ คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทในประเทศไทยยังเปิดเผยว่า กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถ  วัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร และโครงสร้างการบริหารแบบบนลงล่าง  ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย แต่เป็นเรื่องของการคัดสรรพนักงานที่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน นั้นประสบความสำเร็จ