ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หมู่บ้านเอื้ออาทร ท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.นครปฐม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วทุกภูมิภาค นำโดย นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ อ.นาทวี จ.สงขลา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ในชุมชนและแคมป์คนงาน ของ​ จ.นครปฐม รวมทั้งหมด 5 ทีม เพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และเข้าสู่ระบบรักษาอย่างรวดเร็ว

นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์จากทั่วทุกภูมิภาค ประมาณ 30 ทีม ได้ลงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. 64 โดยใช้ชุดตรวจ Rapid Test ที่สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจะคัดกรองประเมินอาการของผู้ป่วยตามระดับความรุนแรง แบ่งเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ถ้าอาการอยู่ในระดับสีเขียว จะให้ยาฟ้าทะลายโจร และนำเข้าสู่ระบบการรักษา community isolation หรือ Home Isolation ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หากประเมินแล้วระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือ​ รพ.สนาม พร้อมให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กับทีมแพทย์เพื่อนำมารักษาผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้รับยาที่รวดเร็ว เข้ารับการตรวจเร็ว และรักษาได้เร็ว จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือภาวะรุนแรง และลดการเสียชีวิต นอกจากนี้ หากพบผู้ติดเชื้อ จะต้องตรวจสมาชิกภายในครอบครัวและกักตัว เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ซึ่งจะพยายามทำให้ครอบคลุมมากที่สุด

นายสุรศักดิ์  กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกของทีมแพทย์ชนบทในครั้งนี้ เป็นการตรวจเชิงรุกในพื้นที่อ.เมือง อ.นครชัยศรี และอ.สามพราน โดยทางจังหวัดได้นำทีมแพทย์พยาบาลจาก 4 อำเภอที่เหลือ มาร่วมปฏิบัติกับทีมแพทย์ชนบทเพื่อเรียนรู้แล้วก็จะได้นำกลับไปทำต่อในระหว่างวันที่ 9-10 ส.ค.นี้ ในทุกอำเภอ หากสามารถแยกผู้ป่วยออกมาจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด จะสามารถลดผู้ป่วยรายใหม่รายวันได้ จากการตรวจในวันนี้หลักการคือการ Clean เป็นชุมชน โดยจะนำแนวคิดนี้ปฏิบัติใน​ จ.นครปฐม ต่อไป
ในส่วนของการบริหารจัดการวัคซีน จังหวัดได้รับจัดสรรมาอย่างต่อเนื่อง หากได้รับวัคซีนมากขึ้น จะเร่งดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังให้ครบทั้งหมดทุกคน เพื่อลดการป่วยที่มีอาการรุนแรง