เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) รัฐสภา เปิดเผยภายหลังการประชุม กมธ. นัดที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้พิจารณาเนื้อหาและกรอบการทำงานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการทำงานภายใต้ข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 124 ที่กำหนดให้ กมธ.พิจารณาเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เสนอเป็นคำแปรญัตติ ซึ่งในวรรคท้าย มีข้อกำหนดในรายละเอียด คือ 1.การแปรญัตติเพิ่มมาตราใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ที่ไม่ขัดหลักการ สามารถทำได้ และ 2. การแปรญัตติอาจจะขัดกับหลักการได้ เว้นแต่เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งตนได้ยกตัวอย่าง เช่น การกำหนดบทเฉพาะกาล เป็นต้น
นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ซีกพรรคก้าวไกล มีความเห็นแย้ง ว่า ตามข้อบังคับข้อที่ 151 ไม่ได้ให้สิทธิ กมธ. เป็นผู้วินิจฉัย หาก กมธ.ที่ติดใจ สามารถยื่นต่อประธานรัฐสภาเป็นญัตติเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาตัดสิน ทั้งนี้จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุม
“ผมเข้าใจว่ามี กมธ.ที่ติดใจ แต่ในข้อบังคับรัฐสภากำหนดรายละเอียดไว้ หากยังติดใจ สามารถสงวนความเห็นหรือยื่นเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาวาระสองได้ ทั้งนี้การพิจารณาส่วนของคำแปรญัตตินั้น กมธ. ได้นัดประชุมวันที่ 10 ส.ค.โดยขณะนี้ให้ฝ่ายเลขานุการไปพิจารณาสรุปประเด็น แทนการตั้งคณะทำงาน ที่ผมรับฟังคำทักท้วงว่าไม่จำเป็น” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าสำหรับคำแปรญัตติที่เสนอมานั้น แบ่งได้เป็น คำแปรญัตติที่เสนอแก้ไข 1-2 มาตรา มีทั้งสิ้น 14 ฉบับ เสนอแก้ 3- 5 มาตรา มี 4 ฉบับ และ เสนอแก้ไข 6-9 มาตรา มีทั้งสิ้น 30 ฉบับ ดังนั้นในการประชุมนัดหน้าจะเดินหน้าพิจารณาตามข้อบังคับข้อ 124 อย่างไรก็ตามในชั้นพิจารณาไม่ได้ตัดสิทธิผู้ที่เป็น กมธ.จะแสดงความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการมาทั้งสิ้น 2 มาตรา.