นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.ลพบุรี เผยถึงสถานการณ์ภายหลังที่มีการประกาศจาก ศบค.ให้ จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่สีแดงเข้มว่า ได้ให้มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นที่มีความจำเป็นจริงๆ รวมทั้งร้านอาหารที่ให้ซื้อกลับบ้านไม่สามารถนั่งในร้านได้ สำหรับการแพร่ระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์จากจังหวัดข้างเคียง ซึ่งคนงานส่วนใหญ่อาศัยใน จ.ลพบุรี ทางโรงพยาบาลพื้นที่ได้ไปตรวจหาเชื้อผู้ที่เป็นผู้ป่วยก็เข้ารับการรักษา ส่วนผู้ที่เสี่ยงสูงก็ถูกกักตัวอยู่ที่บ้านและอยู่ในศูนย์กักตัวในชุมชน ซึ่งจะมีการยกระดับการห้ามเคลื่อนย้ายเพราะจะส่งผลให้มีการแพร่การติดเชื้อมากขึ้น โดยจะมีการตั้งจุดตรวจคัดกรองอย่างเข้มงวดขึ้น

ขณะที่ รพ.สนามและ ศูนย์กักตัวในชุมชน (community isolation) นั้น มีพอเพียง โดยโรงพยาบาลหลักมีอยู่ 8 แห่ง รพ.สนาม 8 แห่ง ยังมีเตียงว่างบางส่วน ด้านศูนย์กักตัวในชุมชน (community isolation) ที่มีอยู่ 81 แห่ง สามารถรองรับได้ถึง 1,800 เตียง ตอนนี้ใช้ไปแล้วกว่า 900 เตียง ส่วนการบริหารจัดการด้านการรักษาได้พยายามเคลียร์เตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นแล้ว จะนำส่งไปยัง ศูนย์กักตัวในชุมชน (CI) และกลับไปรักษาตัวที่บ้าน (HI) ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้แพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก       

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว 2,204 ราย และมีภูมิคุ้มกันที่ดี อยากให้กลับมาร่วมเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลสนามหรือ ศูนย์กักตัวในชุมชน (community isolation) เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหนักมาก     

ขณะที่ แหล่งสมาคมหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.ลพบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ณพล วงศ์วัฒนะ เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ นายสุภกิณห์ แวงชิน รอง ผวจ.ลพบุรี ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันรับมอบเตียงกระดาษ HSFC Paper Bed จากบริษัท เอเวอร์กรีน พลัส จำกัด 100 เตียง เพื่อใช้สำหรับจัดตั้ง Community Isolation (CI) หรือศูนย์กักตัวในชุมชน รองรับประชาชนผู้ป่วยโควิด ในกลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทั้งผู้ป่วยจากชุมชน และคลัสเตอร์ต่างๆ ในพื้นที่ จ.ลพบุรี รวมถึงผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ได้ลงทะเบียน ขอกลับมารักษาอาการป่วยตามภูมิลำเนา

ทั้งนี้ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้สนับสนุนกำลังพล จาก กองบริการ ศูนย์สงครามพิเศษ 25 นาย เร่งทำการขนย้าย และประกอบเตียงในเบื้องต้น 100 เตียง เพื่อให้ทันต่อการให้บริการ รองรับผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่ง Community Isolation (CI) หรือศูนย์กักตัวในชุมชน แหล่งสมาคมหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ 250 เตียง เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการรองรับดูแลสังเกตอาการ ผู้ป่วย ตามมาตรการสาธารณสุข เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว และเมื่อมีอาการที่รุนแรงในขณะกักตัวภายในศูนย์ ซึ่งทีมแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้ประเมินอาการอีกครั้ง ก่อนประสานส่งต่อให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามระบบของสาธารณสุขได้ในทันที