เมื่อเวลา 14.00 น.​ วันที่ 7 ก.ค.2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปยังอาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมีอุปนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ

จากนั้น ทรงลงพระนามในสมุดที่ระลึก และทรงฉายพระรูปร่วมกับกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กรรมการประจำส่วนงานสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ กรรมการประจำส่วนงานวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน จากนั้น เสด็จเข้าห้องพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ และประทับพระเก้าอี้

สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีมติเป็นเอกฉันท์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎร โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการสาธารณสุข อันเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ทรงมีพระบรมราชูปถัมภ์ แก่หน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ เพื่อพระราชทาน ความช่วยเหลือในการเข้าถึงการรักษาโรค อีกทั้ง พระราชทานพระบรมราโชบาย และพระราชทรัพย์ในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในทุกมิติ

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงรับการถวายตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์เกียรติยศ ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์ปรมัตถ์” ตามที่สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์​ ขอพระราชทานเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนักวิชาการหลากหลายแขนง มีผลงานเป็นเลิศทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ ทรงมีคุโณปการคุณแก่วงวิชาการอย่างยวดยิ่ง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และเพื่อให้จารึกแห่งพระเกียรติคุณสูงสุดสืบไป

ทั้งนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กราบทูลสำนึกในพระกรุณาธิคุณเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ปรมัตถ์ และขอพระราชทานเบิกอธิการบดีและคณบดี เพื่อกราบทูลเบิกผู้สำเร็จการศึกษา โดยในวันนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 163 คน ประกอบด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ในระดับปริญญาเอก 13 คน ระดับปริญญาโท 35 คน ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ระดับปริญญาโท 1 คน ระดับปริญญาตรี 106 คน และ ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ระดับปริญญาโท 8 คน เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามลำดับ

ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นว่าควรมีการผลิตและสร้างบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในสาขาที่ขาดแคลน จึงทรงมีพระดำริให้พัฒนาต่อยอดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และจัดตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน และการวิจัยขั้นสูง ที่มุ่งผลิตบัณฑิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาล สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมในสาขาที่ขาดแคลนให้มีศักยภาพโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ

อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีวิสัยทัศน์มุ่งสร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ ตามพระปณิธาน โดยได้พัฒนาการศึกษาและนวัตกรรมบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูง พร้อมทั้งมุ่งปฏิรูปราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการสุขภาพ ภายใต้การจัดการศึกษาของ 3 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

โดยเปิดหลักสูตรจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ และมีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง พร้อมบริการด้วยความรู้ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่น และด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม

ในการนี้ พระราชทานพระโอวาท แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ปริญญาบัตรที่บัณฑิตได้รับนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บัณฑิตมีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ในสาขาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน จนสำเร็จผลตามหลักสูตร กล่าวได้ว่า นอกจากปริญญาบัตร จะเป็นเครื่องรับรองวิทยฐานะ คือความรู้ความสามารถของแต่ละคนแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณสมบัติ คือคุณลักษณะและคุณงามความดีที่แต่ละคนมีอยู่ด้วย บัณฑิตทุกคน เมื่อได้ระลึกถึงความสำคัญของ ปริญญาบัตรดังนี้แล้ว จึงควรจะได้ตระหนักว่า แต่ละคนมีเกียรติ ที่จะต้องรักษา ทั้งมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่จะต้องนำความรู้ความสามารถ และคุณสมบัติทั้งปวง ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และชาติบ้านเมือง หากบัณฑิตระลึกได้และปฏิบัติได้จริง แต่ละคนก็จะมีความเจริญมั่นคงในชีวิต และเป็นผู้สามารถทำคุณประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติได้ สมเกียรติสมศักดิ์ศรีของความเป็นบัณฑิตทุกประการ”