ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ฝายน้ำล้นลำห้วยคล้า บ้านหนองเข็งน้อย ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ พร้อมด้วย ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา คณะที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกรฤต มีเกิดผล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานศรีสะเกษ ลงพื้นที่ร่วมประชุมประชาคม เรื่องการขุดลอกห้วยคล้า บริเวณฝายน้ำล้นห้วยคล้าหนองเข็งน้อย และรับฟังความคิดเห็น พร้อมนั่งเรือสำรวจพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ลำห้วยคล้า ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาพลำน้ำที่มีความตื้นเขิน วัชพืชจำนวนมาก ส่งผลให้ลำน้ำไม่สามารถรองรับน้ำได้ในฤดูน้ำหลาก และมีความแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้ง โดยมี พระอาจารย์บุญมี เตชะธรรมโม เจ้าอาวาสวัดป่าหนองม่วง และนายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมประชุมด้วย

นายจำรัส กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2560 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ ต.หัวเสือ ต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ บางส่วน และที่ ต.โพนยาง ต.บุสูง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ทำให้ไร่นาได้รับความเสียหาย ภาคประชาสังคม จ.ศรีสะเกษ จึงได้เปิดเวทีประชาคม ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น มวลน้ำไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ไม่สามารถระบายลงลำห้วยคล้าได้ มูลเหตุเพราะพื้นที่แก้มลิงของลำห้วยคล้าตื้นเขิน มีวัชพืชขึ้นกีดขวางทางน้ำอยู่จำนวนมาก ตั้งแต่บ้านศาลาสระบาน ต.สำโรงตาเจ็น อ.ขุขันธ์ จนถึงอ่างเก็บน้ำวังหิน หน้าโรงเรียนนครศรีลำดวนวิทยา ต.บุสูง อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ ความยาวประมาณ 8 กม. และเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยคล้านิคม 1 ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ

ต่อมาทางโครงการชลประทานศรีสะกษ ได้ออกไปทำการสำรวจพื้นที่ ได้ข้อสรูปว่าต้องใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ในการขุดลอกแก้มลิงในพื้นที่ดังกล่าวทั้งระบบ ซึ่งเกินความสามารถที่โครงการชลประทานศรีสะเกษ จะดำเนินการได้ จึงได้ของบประมาณไปยังส่วนกลาง ถ้าการดำเนินการขุดลอกแก้มลิงห้วยคล้าประสบผลสำเร็จจะเกิดผลดีทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่ ต.หัวเสือ ต.สำโรงตาเจ็น ต.สะเดาใหญ่ อ.ขุขันธ์ บางส่วน และที่ ต.ศรีสำราญ ต.โพนยาง ต.บุสูง อ.วังหิน อีกด้วย นอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ประชาชนมีน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร แก้ปัญหาการบุรุกลำห้วยและการล้มตายของสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรตามลำห้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ตรวจสอบแล้ว โดยจัดเข้าแผนงานประจำปีงบประมาณ 2565-2568 แล้ว ซึ่งเป็นการขุดลอกลำห้วยค้าพร้อมกับทำขุดลอกแก้มลิงบริเวณหนองเข็งน้อย ที่มีพื้นที่ตื้นเขินมากกว่า 600 ไร่ งบประมาณ 600 ล้านบาท หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งผลดีต่อประชาชนที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตรใน อ.ขุขันธ์ และบริเวณใกล้เคียง เป็นแหล่งสร้างรายได้ด้านประมงและปศุสัตว์พื้นบ้าน ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ด้าน ดร.ฐิตารีย์ กล่าวว่า ตนจะเป็นส่วนในการประสานงานผลักดันงบประมาณในการจัดทำโครงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ส่วนโครงการชลประทานจังหวัดศรีสะเกษ จะเป็นผู้เขียนโครงการนำเสนอของบประมาณ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ ขจัดปัญหาต่างๆ ของโครงการ ขอให้ร่วมใจร่วมแรงกันอย่างจริงจังทุกอย่างก็จะสำเร็จตามที่ประชาชนต้องการมีน้ำเพื่อการเกษตรกรรมต่อไป