ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ โชนกระโทก วัย 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 142 หมู่ 1 ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา อาศัยเวลาว่าจากการทำไร่ทำนาใช้วิชาติดตัวที่ร่ำเรียนมาจากพ่อแม่หาไม้ไผ่มาจักตอกแล้วสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้ง ตะกร้า กระบุง ไซ และเครื่องมืออื่นๆอีกมากมาย เพื่อไว้วางจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจให้เข้ามาเลือกซื้อกลับไปใช้ภายในครัวเรือน ถึงแม้ว่าแต่ละวันจะไม่สามารถผลิตได้มากนัก แต่ก็ถือได้ว่าวิชาที่มีติดตัวนี้ ยังสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อาชีพหลักคือการทำไร่ทำนา ด้วยความที่ตัวเองสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงหาวิธีที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว จากวิชาที่เคยร่ำเรียนมาจากพ่อแม่ทำการจักสานไม้ไผ่ไว้วางจำหน่ายให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเมื่อทำแล้วปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดีมีกลุ่มลูกค้าเข้ามาถามซื้อกันอย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าแต่ละอย่างจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากเป็นงานฝีมือและต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง แต่ก็ถือว่าเป็นการใช้เวลาว่าให้เกิดประโยชน์ สามารถทำได้ตลอดทั้งวัน เหนื่อยก็พัก ไม่ต้องหักโหม ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจดีสามารถรอได้ ไม่ได้รีบร้อน โดยสนนราคาสินค้าแต่ละชิ้นก็จะแตกต่างกันไป เริ่มต้นตั้งแต่ 200 ไปจนถึง 500 บาท แล้วแต่ความยากง่ายของชิ้นงาน อย่างเช่นกระบุง ราคา 200 บาท ตะกร้า 250 บาท ไซเล็ก 300 บาท ไซใหญ่ 500 บาท เป็นต้น ราคานี้ลูกค้าไม่เคยเกี่ยงและมีคนมาถามซื้อทุกวันชนิดที่ว่าทำกันไม่ทันเลยทีเดียว ทำให้มีรายได้แต่ละเดือนอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตนเองใช้ฝีมือทำออกมา มีหลายอย่าง ทั้งอุปกรณ์การหาปลา อย่าง ไซ และ ยอ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง กระบุง หรือตะกร้า นั้น ต้องใช้เวลาในการทำต่อชิ้นประมาณ 1 วัน เนื่องจากขั้นตอนในการทำค่อนข้างเยอะ เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การไปสรรหาไม้ไผ่ ตัด ลำเลียง แล้วนำมาจักตอก แยกส่วนต่างๆ ก่อนที่จะมาขึ้นรูป แต่ก็ไม่ได้ถือว่าหนักหนาอะไรมากนัก เพียงแต่หลายขั้นตอนเท่านั้น เพราะงานอย่างนี้ต้องใช้ความละเอียด มือ และประสบการณ์ มาประกอบร่วมกัน ทำให้คนรุ่นหลังไม่อยากที่จะมาสืบทอด จนงานฝีมือนี้กำลังจะหดหายไปทุกที ทุกวันนี้ในพื้นที่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหลงเหลือใครที่จะพอทำงานเช่นนี้ได้บ้าง ซึ่งส่วนตัวเองก็เป็นห่วงว่า สักวันหนึ่งงานฝีมือเช่นนี้อาจจะหายไปจากท้องถิ่นในที่สุด จึงอยากให้หน่วยงานหรือใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ช่วยเข้ามาส่งเสริม ผลักดัน และฟื้นฟูงานฝีมือเหล่านี้ให้คงอยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย

ล่าสุดทางเทศบาลตำบลครบุรีใต้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่จากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) เข้ามาเก็บข้อมูลและรับฟังปัญหา เพื่อนำกลับไปดำเนินการวางแผนการทำงานเพื่อที่จะส่งเสริมและสืบสานภูมิปัญญานี้ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป