น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอาจแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงด้านขาลงของเศรษฐกิจไทยที่เปิดกว้างมากขึ้น เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงยืดเยื้อ การขยายมาตรการควบคุมโรคและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะความเปราะบางของตลาดแรงงาน รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าเป้าหมาย ด้านการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแอยังส่งผลต่อเงินเฟ้อให้ต่ำลงด้วย

“นักลงทุน และตลาดเงินได้จับตาดู กนง.ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท คาดว่าสัปดาห์นี้เงินบาทอยู่ที่ 32.80-33.15 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.83-32.99 บาทต่อดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือน ขณะที่ในเดือนก.ค.เงินบาทอ่อนค่าลง 2.5%”

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า กนง.ในวันที่ 4 ส.ค.นี้คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปีอีกครั้ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากต้องเจอความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดมีแนวโน้มควบคุมได้ยากขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของไทยเจอข้อจำกัดมากขึ้น คาดว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม ดังนั้น มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมาตรการทางการคลังที่ออกมาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์รุนแรงจนภาครัฐมีมาตรการควบคุมเข้มข้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยเจอความเสี่ยงเชิงลบและภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการทางการเงินและการคลังเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาด อาจเป็นความท้าทายธปท.ในการดำเนินนโยบายการเงิน และอาจเกิดเงินทุนไหลออกจากตลาดเงินไทย เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

“คาดว่ากนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงไปกว่านี้ ท่ามกลางความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงจุดเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือน”