ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. รองผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การต้อนรับ Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC Mr. El Habib Bourane ผู้อำนวยการกองชุมชนและชนกลุ่มน้อยของมุสลิม Ms.Ibrahim Patou เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับชำนาญการ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วย นายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา และคณะ ซึ่งเดินเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2565 เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมสถาบันการศึกษาด้านศาสนาอิสลามของภาครัฐและภาคเอกชน วิถีชีวิตท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สำหรับการเยือน ศอ.บต. ในครั้งนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองและคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีมุสลิมในพื้นที่ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม และโอกาสการพัฒนารองรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย รับฟังการบรรยายสรุป การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่ความ กินดีอยู่ดีและสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน

จากนั้นเลขาธิการ ศอ.บต. และรับฟังการบรรยายสรุปทิศทางการรักษาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากแม่ทัพภาค 4 /ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 Mr.Yousef Mohammed S.Aldobeay ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการเมืองของ OIC กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในฐานะ OIC ที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในประเทศไทย หลังจากได้มาเห็นกับตา มาสัมผัสกับตัวเองแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่ OIC ไม่มีความวิตกกังวล หลังจากที่ได้มาสัมผัสกับแนวทางวิธีการแก้ไขปัญหาการร่วมมือ การปรองดอง แนวทางสมานฉันท์ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน และขอชื่นชม เลขาธิการ ศอ.บต. ทำงานเข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง

พลเรือตรี สมเกียรติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ตอนกลางของคาบสมุทรมลายู มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาช้านาน อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการบางด้านที่อาจขาดความสมดุล ทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่าง และมีเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งภาครัฐได้เร่งแก้ไขโดยสันติวิธีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง ปัจจุบัน ทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนา เพื่อสร้างยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความกินดี อยู่ดี มีความทัดเทียมกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย พร้อมกับ ดำเนินการทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักความเชื่อ ศาสนา และตามอัตลักษณ์ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ศอ.บต. ดำเนินการในหลายมิติ อาทิ ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามความเชื่อ หลักศาสนา และอัตลักษณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมการประกอบศาสนกิจต่างๆในช่วงเดือนรอมฎอน การกำหนดให้มีวันหยุดราชการในวันสำคัญทางศาสนา เช่น ฮารีราย อีดิลฟิตรี ฮารีรายอฮัจจี การอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนที่ไปประกอบพิธีฮัจย์และอุมเราะห์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุง ที่ทำการหรือสำนักงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด การสนับสนุนค่าตอบแทนสำหรับผู้นำศาสนาทุกระดับ การสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนและครูผู้สอนในศูนย์ศึกษาศาสนาอิสลาม ประจำมัสยิดหรือตาดีกา สนับสนุนการศึกษาสายสามัญ และส่งเสริมอาชีพ ให้กับนักศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะ สำหรับประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ภาครัฐสนับสนุนในหลายด้าน อาทิ การสนับสนุนให้มีการประกอบศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันเข้าอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา รวมทั้งกิจกรรมการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นต้น การพัฒนาฟื้นฟูบูรณะวัดและศาสนสถานต่างๆ การสนับสนุนการศึกษาธรรมทายาทและศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การสนับสนุนให้ประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกไปประกอบศาสนกิจที่ประเทศอินเดียและเนปาล 

นอกจากนี้ ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนการขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่างๆ อาทิ แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนที่ทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ มุ่งพัฒนาศักยภาพทางสติปัญญา สุขภาพที่แข็งแรง ปลูกฝังการอ่านหนังสือตั้งแต่เยาว์วัย ระดับประถมศึกษา เน้น คุณภาพการศึกษาและทักษะการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 18 แห่ง และการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม โดยการเรียนศาสนาในโรงเรียนตาดีกา และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนอาหารกลางวันให้กับนักเรียนที่เรียนศาสนาเหล่านี้ ในระดับมัธยมศึกษา เตรียมจัดตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การพัฒนาเศรษฐกิจ ในระดับฐานราก ในภาคเกษตรส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ เช่น พืชพลังงาน เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 15 แห่ง กำลังการผลิต 230 เมกะวัตต์ ต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลปีละประมาณ 3 ล้านตัน 2 ปีที่ผ่านมา ศอ.บต. สนับสนุนการปลูกไผ่เพื่อเป็นพืชพลังงานนำร่องประมาณ 10,000 ไร่ การส่งเสริมปลูกกาแฟโรบัสต้าสายพันธุ์พื้นถิ่น ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ที่มีพระประสงค์ให้มีการอนุรักษ์พันธุ์กาแฟพื้นถิ่น การส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ ขับเคลื่อนโครงการโคบาลชายแดนใต้ มีแนวคิดให้มีการจัดตั้งลุ่มวิสาหกิจโคเนื้อ รวม 5 จังหวัด 1,000 กลุ่ม เกษตรกรผู้เลี้ยงโดยตรงไม่น้อยกว่า 10,000 ราย การส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ให้กับประชาชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งทะเล เลี้ยงปูทะเลประเภทปูนำร่องใน จำนวน 30 ชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค 5 จังหวัด ดำเนินการหลายโครงการ เช่น โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การพัฒนาด้านสังคม เน้นการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง โดยใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น เก้าอี้สุขใจ รองเท้าสั่งตัดเฉพาะราย รถสิริเวชยาน เป็นต้น กลุ่มผู้ไร้สถานะทางทะเบียนหรือไม่มีบัตรประชาชน ดำเนินการตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ