ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม (CCOC) สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนโครงการสมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0 (Smart Safety Zome 4.0) ร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม (Big 6) ประกอบด้วยฝ่ายตำรวจ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่นๆ และสื่อมวลชน เพื่อขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือในการยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมการปฏิบัติเจ้าหน้าที่ประจำห้องศูนย์ควบคุมสั่งการ CCOC ของ สภ.เมืองเชียงราย

พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะใช้โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ดังนั้นระบบราชการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเกิดขึ้น ภาครัฐจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นจะต้องปฏิรูประบบการทำงานให้รองรับและขับเคลื่อนนโยบายของฐบาลในเรื่องดังกล่าว โดยคำนึงถึงพันธกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในด้านการรักษากฎหมายการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน แนวคิดของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. คือ “ผู้หญิงสามารถเดินคนเดียวได้ในเวลากลางคืน ทุกจุดของพื้นที่ Safety Zone 4.0 ได้อย่างปลอดภัย” ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย จึงได้มอบหมายให้ สภ.เมืองเชียงราย เป็นสถานีตำรวจนำร่องในโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0

พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวว่าสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย จึงได้จัดทำโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับการป้องกันอาชญากรรม ผสมผสานกับแนวความคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV แบบอัจฉริยะ (Smaet CCTV) เชื่อมโยงกับห้องศูนย์ควบคุมและสั่งการของ สภ.เมืองเชียงราย รวมถึงการใช้แอพฟรี แอพพลิเคชั่น Police 4.0 การติดตั้งตู้แดงแบบ QR-Code ในจุดเสี่ยงจุดล่อแหลมครอบคลุมทั้งพื้นที่ การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เป็นต้น ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เบื้องต้น สภ.เมืองเชียงราย จึงได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความสำคัญในทุกมิติ เนื้อที่ประมาณ 1.5 ตารางกิโลเมตร ในตำบลเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ประกอบไปด้วย 9 ชุมชน คือชุมชนเกาะลอย ชุมชนเทิดพระเกียรติ ชุมชนกลองยาว ชุมชนรั้วเหล็กเหนือ ชุมชนรั้วเหล็กใต้ ชุมชนศรีเกิด ชุมชนวัดพระแก้ว ชุมชนเจ็ดยอด และชุมชนราชเดชดำรง เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการดังกล่าว

พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการทำงานมีการประสานภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม (Big 6) ประกอบไปด้วย 1.หน่วยงานตำรวจ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่โครงการเป็นเจ้าภาพหลัก 2.ภาคประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตัวแทนประชาชน 3.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ เช่น อบจ. หรือเทศบาล 4.ภาคธุรกิจ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่ 5.หน่วยงานภาครัฐ อำเภอ โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยงานทหาร และ 6.สื่อมวลชน เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ติดตาม นำเสนอข้อเสนอแนะ เสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้สู่สาธารณชนทั่วไป การดำเนินการในระยะที่ผ่านมานับว่ามีผลเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน ได้มีความอุ่นใจ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานจะได้ผลดีและประสบผลสำเร็จก็จะเกิดมาจากการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมมือกันดำเนินการ แต่ก็ยังมีจุดที่ทีมทำงานจะพัฒนาเพื่อให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และอยากเชิญชวนผู้ประกอบการภาคเอกชนและราชการในพื้นที่ ให้เชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิดมาที่ห้องศูนย์สั่งการ CCOC เพื่อใช้ประโยขน์ในป้องกันปราบปรามอาชญกรรมอย่างทันท่วงที และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน บุคคลทั่วไป รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ให้โหลดแอพพลิเคชั่น police i lert u ซึ่งเป็นแอพบริการรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟน ขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ 24 ชั่วโมง ทุกพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย.