ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามกีฬากลางจังหวัดชุมพร นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร ปี 2565” อย่างเป็นทางการ จัดขึ้นระหว่าง 16-26 มิ.ย.65 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จ.ชุมพร ด้านการเกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าเพิ่ม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ด้านสังคมและความมั่นคง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมผลไม้เมืองชุมพร และส่งเสริมประเพณีการแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมี นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รอง ผวจ.ชุมพร นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร ประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายธนา กล่าวว่า ชุมพรเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีพืชเศรษฐกิจหลักทำรายได้ให้จังหวัด เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟโรบัสต้า รวมทั้งภาคบริการด้านการท่องเที่ยว มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ระบบ 84,859 ไร่ โดยมีทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของจังหวัด ในปี 2564 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ สามาถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด มูลค่า 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 และคาดว่าในปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียนจำนวน กว่า 200,000 ตัน โดยในฤดูกาลนี้ ประเทศไทยได้ส่งออกผลไม้ทุเรียนไปประเทศจีนได้แล้วกว่า 500,000 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบในเวลาเดียวกันของปี 2564 จำนวนสูงถึง 68% คิดเป็นยอดจำหน่ายกว่า 150,000 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดชุมพรด้านการเกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าเพิ่ม ได้มีการส่งเสริมสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน และกาแฟโรบัสต้า เข้าสู่ตลาดยุโรป ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในจังหวัด และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ด้าน นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีรายได้จากภาคการเกษตรคิดเป็น 57% จากรายได้ของจังหวัด รายได้เกินครึ่งมาจากภาคการเกษตร และเฉพาะ 57% นี้มีรายได้จากทุเรียนมากถึง 33% โดย 30% มาจากทุเรียนอย่างเดียวปี ที่สำคัญ จังหวัดชุมพรเป็นตลาดผลไม้ ทั้งผลิตและส่งออกทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีที่แล้วส่งออกกว่า 600,000 กว่าตัน ดังนั้นผลไม้ในจังหวัดภาคใต้ทั้งหมด โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมาบรรจุและส่งออกที่จังหวัดชุมพร นับเป็นฮับและตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ชาวสวนทุเรียนให้ความสำคัญกับการลดสารเคมีทุกชนิดควบคู่กับการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นบันทึกประวัติของทุเรียนทุกต้นในแปลงใหญ่ โดยแอพพลิเคชั่นของชาวสวนจะบันทึกไว้ว่า ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 วัน เป็นมาตรฐานของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และก้านยาว ความแก่อยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ และจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้จะควบคุมคุณภาพของทุเรียน และที่สำคัญไปกว่านั้น เกษตรทันสมัยจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจย้อนได้ว่า ซื้อทุเรียนมาจากที่ไหน เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค