น.ส.กัณหา คำหอมกุล ผอ.โรงเรียนวัดทับกระดาน ต.บ่อสุพรรณ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า การสานปลาตะเพียนเป็นงานฝีมือหัตถศิลป์ ที่อยู่คู่ท้องถิ่นมาเป็นเวลานานกว่าร้อยปี จนถึงวันนี้ก็ยังนับได้ว่า จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งผลิตปลาตะเพียนสานใบลานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตามความเชื่อที่ว่า ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็มีความเชื่อว่า ปลาตะเพียนเป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา หากบ้านไหนแขวนปลาตะเพียนไว้หน้าบ้าน จะทำให้บ้านนั้นมั่งมีศรีสุข ทำมาค้าขึ้น

ทั้งนี้ได้ร่วมกับ น.ส.พัชรินทร์ กะโห้แก้ว ครูชำนาญการกลุ่มสาระฯ ครูประจำวิชาการงานอาชีพ นำมาถ่ายทอดความรู้งานด้านการสารปลาตะเพียน ด้วยใบมะพร้าวให้กับกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อนักเรียนได้สรรสร้างงานศิลปะที่สวยงาม โดยขั้นตอนการสานปลาตะเพียน เริ่มต้นจากนำใบมะพร้าว มาตัดเป็นเส้นยาว 2 เส้น นำเส้นที่ 1 มาพันมือ 2 รอบ แล้วดึงมือที่พันออก ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับไว้ จากนั้นนำใบที่ 2 มาพับครึ่ง แล้วสอดเข้าไปในใบมะพร้าวที่พันไว้ในรอบแรก เสร็จแล้วให้ใช้ใบเส้นที่ 2 เส้นล่างสอดช่องใบเส้นที่ 1 ห่วงแรก กลับด้านหลังขึ้นมา ให้นำใบมะพร้าวเส้นที่ 2 ปลายด้านล่างสอดช่อง แล้วดึงจัดให้สวยงาม และใช้กรรไกรตกแต่ง ครีบ หางให้สวยงาม

ส่วนนอกเวลาเรียนนักเรียนสามารถนำใบมะพร้าวมาสานปลาตะเพียน เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในการพัฒนาฝีมือสานเป็นปลาตะเพียนพวง เพื่อขายเป็นอาชีพ หรืออาชีพเสริม เพื่อเป็นการขยายโอกาสไปสู่ผู้ปกครอง ในช่วงรอ หรือช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยมีพ่อแม่ และผู้ปกครองได้ร่วมสร้างโอกาสดีๆ ในการส่งเสริมการสานปลาตะเพียน เพื่อต่อยอดเป็นปลาตะเพียนพวง สำหรับแขวนไว้เหนือเปลนอนของเด็กอ่อน เพื่อให้เด็กดูเล่น สร้างความเป็นสิริมงคลให้เจริญเติบโตมีฐานะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ดุจปลาตะเพียนต่อไป