เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค รายงานว่าหลายจังหวัดในภาคอีสานที่พบการนำเชื้อจากคนที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง แต่เมื่อได้มีการค้นหาผู้ป่วย การทำประวัติผู้ที่กลับจากพื้นที่เสี่ยง และการทำโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้านนั้น ส่งผลให้สามารถนำผู้ป่วยเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยจำกัดวงระบาดให้อยู่ในกลุ่มเฉพาะผู้ป่วยที่ถูกพบแล้วสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามยังพบกลุ่มผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพิ่มอีก 16 จังหวัด ซึ่งการพบคลัสเตอร์ใหม่ที่นำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ที่ประชุม ศบค.ต้องยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคในสถานประกอบการ อาทิ โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง บริษัท กิจการที่มีคนรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ซึ่งมีเป้าหมายการควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (บับเบิล แอนด์ ซีล) อย่างเข้มงวด เพื่อลดการติดเชื้อภายในสถานประกอบการ และลดการแพร่ระบาดไปยังชุมชนด้วย จึงต้องขอความร่วมมือจากบริษัทและผู้ประกอบกิจการต่างๆ ให้ศึกษาแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด และสามารถปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงการประกาศข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 30 ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.นี้ และระบุว่าใช้ถึงวันที่ 31 ส.ค. ทั้งนี้ ศบค.จะติดตามผลในระยะ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ คือวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งถ้าพบว่าผลจากมาตรการออกมาดี ก็อาจผ่อนคลายข้อกำหนดได้ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็จะยืดการบังคับใช้ไปถึงวันที่ 31 ส.ค.ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 14 วันหลังจากนี้ หากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัดสีแดงเข้ม เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดูหลักฐานอนุญาตการเดินทาง ดังนั้นหากไม่จำเป็น ขอให้ประชาชนงดเว้นการเดินทางในช่วง 14 วันนี้ไปก่อน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในการประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้สรุปการยกเว้นข้อบังคับที่เกี่ยวกับการขนส่งก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้ ได้แก่ 1.ให้ยกเว้นข้อบังคับเจ้าพนักงานในทางพิเศษ เรื่องการห้ามรถบรรทุกวัตถุอันตรายเดินในทางพิเศษ พ.ศ.2559 ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยอนุญาตให้มีการขนส่งก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ในทางพิเศษได้ ทั้ง ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร 2.ให้ยกเว้นการห้ามข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรว่าด้วยการห้ามรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไปเดินและห้ามจอดในทางบางสาย พ.ศ. 2561 ที่เดิมห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเดินรถในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงเวลา 05.00-10.00 น. และช่วงเวลา 15.00-21.00 น. ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เนื่องจาก ที่ประชุมเห็นว่าสามารถยกเว้นข้อบังคับเหล่านี้ได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมถึงทำให้การขนส่งก๊าซทางการแพทย์แก่ศูนย์พักคอย และโรงพยาบาลได้ โดยมีเจ้าพนักงาน ทั้ง ตร.และ กทพ.อำนวยความสะดวกให้
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้หารือถึงกรณีที่บริษัทเอกชน จิตอาสา และองค์กรการกุศลบริจาคถังออกซิเจนให้ประชาชน แล้วต้องมีการนำไปพักไว้เพื่อรอการจัดส่งจำนวนมาก ซึ่งถังออกซิเจนดังกล่าวเป็นวัตถุไวไฟที่อาจเกิดอันตรายได้ จึงขอให้ประชาชนมีความระมัดระวัง รวมถึงศึกษารายละเอียดให้ดีในเรื่องวิธีใช้และการจัดเก็บ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้วย.