นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจเอฟทีไอ โพล ครั้งที่ 8 ในเดือนก.ค. 64 หัวข้อการจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากการสำรวจผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. ครอบคลุมผู้บริหาร 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย

โดยโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบต้องลดกำลังการผลิตลงน้อยกว่า 30% คิดเป็น 45.2% โรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็น 26.5% โรงงานที่กำลังการผลิตลดลง 30-50% คิดเป็น 20.5% และโรงงานที่กำลังการผลิตลดลงมากกว่า 50% คิดเป็น 7.8%

ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ แรงงานบางส่วนต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรค หรือกักตัว รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราวตามข้อกำหนด คิดเป็น 51.8% รองลงมาสถานประกอบการไม่สามารถหาแรงงานสัญชาติไทยได้เพียงพอต่อความต้องการ คิดเป็น 49.4% และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพื้นที่ของแรงงานข้ามจังหวัดคิดเป็น 41.6% ส่วนการจ้างงานส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถคงอัตราการจ้างงานเท่าเดิม คิดเป็น 53.6% มีการจ้างงานลดลง 10-20% คิดเป็น 31.3% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10-20% คิดเป็น 10.3% และมีการจ้างงานลดลงมากว่า 50% คิดเป็น 4.8%

“ภาคการส่งออก ถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ”

สำหรับมาตรการที่ภาครัฐควรนำมาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ขอให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนในการจ้างแรงงานไทย ขยายโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ คิดเป็น 50% รองลงมาเป็นการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้แรงงาน คิดเป็น 48.8% และการอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้เอ็มโอยู เฉพาะแรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว มีการทำประกันสุขภาพ และต้องผ่านการกักตัว 14 วัน เข้ามาทำงาน คิดเป็น 45.8%

ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะมีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู ควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องใด ผลสำรวจระบุว่า การเตรียมความพร้อมระบบคัดกรอง ติดตาม และประเมินสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว คิดเป็น 69.9% รองลงมา การจัดตั้งศูนย์วัน สต็อป เซอร์วิส สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว คิดเป็น 66.9% และการปรับลดขั้นตอนเอกสารที่ไม่จำเป็น และปรับมาดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 65.1%