เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 25/2565 พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา สาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ ผู้แทนอำเภอ 11 อำเภอ ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ และติดตามผลดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมรายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564-13 มิถุนายน 2565 รวมฉีดวัคซีน โควิด-19 จำนวน 1,740,408 โด๊ส แยกเป็นเข็ม 1 คิดเป็น 86.77% เข็ม 2 คิดเป็น 74.74% เข็ม 3 คิดเป็น 41.43% และเข็ม 4 คิดเป็น 5.36% สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดฉะเชิงเทรา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืนยันในจังหวัด PCR และ ATK (มีอาการ) รวมจำนวน 10 ราย ผู้ป่วยสะสม 258 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอความร่วมมือประชาชนให้ยังคงยึดปฏิบัติตามมาตรด้านสาธารณสุข มาตรการ 2U อย่างแข็งขัน ได้แก่ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งเป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคน และเร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Universal Vaccination) โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ระยะออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากตรวจพบ ผู้ติดเชื้อ ทางจังหวัด มียาเพียงพอ หมอพอ เตียงพอ พร้อมรักษา และด้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อการเข้าสู่ตามหลักเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่น เข็ม 3 (กระตุ้น) ต้องได้รับความครอบคลุมร้อยละ 60 ตอนนี้จังหวัดฯ ยังได้แค่ร้อยละ 40 ขอให้ทุกหน่วยช่วยกันเร่งรัดการฉีดวัคซีน โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงประโยชน์ของวัคซีนที่ได้รับ คือ วัคซีนมีคุณภาพมีความปลอดภัยสูง ช่วยป้องกันการติดโรคฯ ได้ ด้วยการติดเชื้อฯ หรือเกิดการเจ็บป่วยเป็นโทษและอันตรายต่อสุขภาพ และอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว หากติดเชื้อฯ จะลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสียชีวิตได้อย่างแน่นอน 

ทั้งนี้  ตามที่ ศบค.มีมติเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรโดยให้มีผล 1 กรกฎาคม 2565 ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ การใส่หน้ากากอนามัย สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก และสามารถถอดหน้ากากในที่โล่งแจ้งได้ตามความสมัครใจ การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติตามที่กฎหมายกำหนด การยกเลิก การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ ด้านการเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค การตรวจ ATK ใช้เฉพาะเมื่อกรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หรือหากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน พร้อมยกเลิกระบบ Thailand pass ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ