เมื่อเวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ.งบประมาณ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติแปรคืนงบประมาณที่ได้ตัดมาทั้งหมดประมาณ 16,300 ล้านบาท โดยมีการยื่น 2 ญัตติ ซึ่งญัตติแรกยื่นโดยนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.พลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะ กมธ.งบประมาณฯ ที่ยื่นญัตติเพื่อแปรงบประมาณไปที่งบกลางปีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 พันล้านบาท จะไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่จำนวนหนึ่งกระจายไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานอัยการสูงสุด และมีหน่วยงานอื่นๆ อีกเล็กน้อย
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนได้เสนอญัตติให้แปรงบประมาณ 16,300 ล้านบาท ไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินที่หายไปจากการลดอัตราภาษีที่ดินในช่วงปี 63-64 มูลค่า 13,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกแปรไปยังสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้านบาท กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 100 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 509.61 ล้านบาท ซึ่งญัตติของตนที่ตั้งขึ้นได้ผ่านการเจรจาต่อรองกับกรรมาธิการทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลหลายคน จนสามารถได้เสียงจากฝ่ายรัฐบาลมาส่วนหนึ่งแต่ไม่เด็ดขาดมากพอ ทำให้สุดท้ายการลงญัตติทั้งสองญัตติไม่ประสบความสำเร็จทำให้ต้องมีการนัดประชุมอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้ เวลา 13.30 น. เพื่อลงมติดังกล่าวกันอีกครั้ง
“ญัตติของนายบุญสิงห์ ที่จะแปรไปยังงบกลางมีความไม่ชอบมาพากลและไม่เหมาะสม อาทิ การที่จัดสรรงบกลางไปเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท แม้จะเหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด แต่สภาฯ เพิ่งจะอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเพิ่มเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญแม้ว่าจะใช้งบกลางหมดแล้ว แต่รัฐบาลยังมีเงินสำรองจ่ายอีก 5 หมื่นล้านบาท ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาโควิด ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงิน และเราไม่จำเป็นที่จะใส่เงินที่เราตัดได้ไปไว้ในงบกลางเพิ่ม อีกทั้งงบกลางเป็นรายการที่มีการตรวจสอบได้ยากจากฝ่ายค้าน เพราะมีอำนาจเต็มของนายกฯ ที่จะอนุมัติงบประมาณไปโครงการต่างๆ จากงบกลางโดยเฉพาะเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น รวมทั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานต่างๆ ในการให้ข้อมูล จึงเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ แม้แต่สำนักงบประมาณของรัฐสภา ก็จัดทำรายงานวิเคราะห์งบประมาณก็มีข้อมูลเดือน มี.ค. 64 เท่านั้น” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตนเห็นว่ามีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล คือ ตอนแรกมีการตั้งว่าจะคืนงบไปในงบกลาง 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อมีกรรมาธิการส่วนหนึ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็มีการเจรจาต่อรอง และปรับลดเหลือ 5 พันล้านบาท ถามว่านี่คืออะไร ซึ่งไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน หรือเป็นเพียงแค่การเตรียมงบประมาณไว้สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงขอทุกคนช่วยกันติดตามการลงมติในช่วงบ่ายวันนี้ และขอให้ช่วยกันคืนงบของประชาชนเพื่อสวัสดิการของประชาชน อย่านำเงินงบไปเป็นเช็คปล่อยให้นายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนจะนำข้อมูลดังกล่าวไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย.