เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานศรีสะเกษ และหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการชลประทานศรีสะเกษ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา (เขื่อนหัวนา) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งในเขตพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน

โดยโครงการชลประทานศรีสะเกษ มี 3 แนวทาง คือ 1.ทำอย่างไรที่จะให้แผนงานที่มีการประชุมไว้แล้วในพื้นที่ปลูก เกษตรมูลค่าสูง  ที่มีการขาดแคลนแหล่งน้ำ ชลประทานต้องเข้าหาพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมาย 2.เรามีต้นทุนจากน้ำอยู่แล้วจำนวนมาก ประมาณกว่า 500 แห่งที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์สักเท่าไหร่  หรือยังมีน้ำต้นทุนเหลืออยู่ ตรงนี้เราก็จะกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพื้นที่เป้าหมายเพื่อดำเนินการตามแผนงานและแนวทางที่ 3 เป็นแบบแพ็กเกจ ลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นรูปแบบกำหนดพื้นที่เป้าหมายออกมา แล้วก็มีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อที่จะให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไป.