จากกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ภายในวัดดัง ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการสูบน้ำออกเป็นจำนวนมาก แล้วปล่อยให้สัตว์น้ำ ปลา เต่าและตะพาบน้ำ จำนวนมากได้รับความทุกข์ทรมานและอาจตายได้นั้น ทั้งๆ พื้นที่ดังกล่าวเป็นบริเวณเขตกัมมัฏฐาน ซึ่งในอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนเคยใช้เป็นเขตอภัยทานให้แก่สรรพสัตว์น้อยใหญ่ได้อยู่อาศัย และเป็นเขตห้ามกระทำความชั่วแก่ทุกชีวิตทั้งหลายตั้งแต่เริ่มสร้างวัด 

เรื่องดังกล่าว ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้ติดตามและได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวด้วยความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตดังนี้1. ในแง่การบริหารจัดการ วัดควรมีแผนการดำเนินงานที่รอบคอบและเหมาะสมมากกว่านี้ เพราะในขณะที่ลงพื้นที่ เวลาประมาณบ่ายโมงตรงของวันที่ 10 มิ.ย.65 พบว่ามีการสูบน้ำจำนวนมากออกจากบ่อน้ำจนเกือบหมดบ่อและด้วยอากาศที่ร้อนจัด สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่กำลัง ขึ้นมาลอยคอ เพราะอาจจะเมาโคลนและอาจมีเสียชีวิตลงได้ เมื่อสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าจะมีการจับสัตว์น้ำในวันที่ 11 มิ.ย.65 ไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งคาดว่าในระหว่างการรอค้างคืนนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์ทรมานและอาจจะตายได้ 2. วัดเป็นเขตอภัยทาน โดยคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่องกำหนดเขตอภัยทานในวัด พ.ศ. 2538 จุดมุ่งหมายเพื่อให้สัตว์ที่เคยอยู่อาศัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกสัตว์น้ำ ตลอดจนปักษีทวิชาติ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ได้อาศัยด้วยความร่วมเย็นเป็นสุข ปราศจากการถูกเบียดเบียนหรือรบกวนด้วยประการใดๆ วัดจึงควรมีหลักเมตตาธรรมต่อสัตว์ และไม่ควรเบียดเบียนชีวิตสัตว์ และควรถือปฏิบัติตามหลักศีลข้อ 1 อย่างเคร่งครัด 

3. การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ของวัด ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงภายใต้การดูแลแล้วทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ เกิดความเจ็บป่วย เจ็บปวด ทุพพลภาพ หรืออาจทำให้สัตว์ตายลงได้นั้น อาจจะเข้าข่ายการกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุสมควร ตาม พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งเจ้าของไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานสงเคราะห์ การสาธารณกุศล วัดต่างๆ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวของเป็นเจ้าของสัตว์นั้นอาจจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้นเรื่องดังกล่าววัดหรือผู้สั่งการการกระทำต่อสัตว์ภายในวัด จึงควรจะต้องระมัดระวังด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษ ยิ่งอยู่ในพื้นที่เขตอภัยทานและเขตกัมมัฏฐาน ยิ่งควรมีหลักเมตตาธรรมในการบริหารจัดการต่อสรรพสัตว์น้อยใหญ่ และไม่ควรเป็นผู้ประมาทในธรรมประพฤติผิดเสียเอง เพราะสรรพสัตว์น้อยใหญ่ทุกชีวิตล้วนมีคุณค่าควรได้อาศัยอยู่ด้วยความร่วมเย็นเป็นสุขปราศจากการถูกเบียดเบียนด้วยประการใดๆที่ไม่สมควร