ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.65 เวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมหารือความร่วมมือกับกลุ่มล้อเดียว นำโดยนายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท ผู้แทนเพื่อนพาหนะทางเลือก และผู้ใช้พาหนะทางเลือกล้อเดียว จักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เข้าร่วมประชุม

นายสุทธิพงศ์ เปิดเผยว่า ที่มาของการหารือในวันนี้ เกิดจาก ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวกับเลขานุการของผู้ว่าฯ กทม. ให้เชิญกลุ่มเพื่อนพาหนะทางเลือกที่ใช้ “ล้อ” ในการเดินทาง ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ล้อเดียว จักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และรถเข็นคนพิการ ซึ่งได้แชร์ปัญหาที่เห็นจากการเดินทางโดย “ล้อ” และมีการตั้งกลุ่ม “ผู้ตรวจการณ์ล้อเดียว” เป็นการรวมกลุ่มของผู้ใช้พาหนะทางเลือกอื่นในการเดินทาง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้หลากหลายขึ้น โดยกลุ่มเพื่อนพาหนะทางเลือกได้มีข้อเสนอแนะ กทม.ดังนี้ 1. นอกจากทางจักรยานแล้ว จะดีแค่ไหนถ้าเดินทางจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่งโดยใช้คลองเป็นเส้นทาง ซึ่งคลองในกรุงเทพฯ มีเกือบ 2,000 คลอง หรือทางอื่น ๆ เช่น ทางเลียบรถไฟ ใต้ทางด่วน เป็นต้น 2. เชื่อว่าพาหนะล้อเดียว ไม่ว่าจะเป็นจักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รถเข็นไฟฟ้า แม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์ ถ้าเราเข้าใจซึ่งกันและกันจะสามารถจำกัดความเร็ว และใช้เส้นทางร่วมกันได้ 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า การเดินทางด้วยล้อเดียว เป็นระบบที่มาเสริมกับระบบหลัก หรือที่เรียกว่า ไมโครโมบิลิตี้ (micromobility) คือ ความคล่องตัวแบบเล็กที่มาเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ อาจจะขี่จักรยานไปขึ้นรถไฟฟ้า หรือขี่สกู๊ตเตอร์ไปตลาด เป็นแนวทางหนึ่งที่เราทำให้ระบบเส้นเลือดฝอยเชื่อมโยง โดยมีแนวทางการพัฒนาบางเส้นทางขึ้นมาก่อน เช่น เส้นเลียบทางด่วนที่มีเส้นทางจักรยานอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องดูว่าสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้อย่างไร มีจุดที่สามารถเชื่อมโยงได้ โดยการนำรถเหล่านี้ขึ้นรถไฟฟ้าได้ด้วยหรือไม่ หรือนำขึ้นรถเมล์ พอเรามาเจอผู้ที่มีประสบการณ์ใช้งานจริง ก็จะมีปัญหาต่าง ๆ เข้ามาแจ้ง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี 

นอกจากนี้ ยังกลุ่มเพื่อนพาหนะทางเลือกได้แนะนำว่าทางเดินริมคลองต่าง ๆ เป็นจุดเชื่อมที่ดี เพราะมีทางลอดสะพาน ไม่ติดไฟเขียวไฟแดง แต่อาจมีบางจุดที่จะต้องเพิ่มเส้นทางบ้าง เช่น หน้า มศว ซึ่ง กทม.จะต้องทำให้มากขึ้น ความเชื่อมโยงนี้จะทำให้กับเข้าถึงการเดินทางได้สะดวกขึ้น 

“จุดมุ่งหมายหลักคือลดการใช้รถยนต์ให้น้อยลง ให้เกิดความคล่องตัว ก็จะเป็น macro หรือภาพใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า บวกกับ micromobility เส้นเลือดฝอย ได้เครือข่ายนี้ทำให้เราเข้าใจปัญหา สามารถตอบโจทย์ของคนเมืองได้ดีขึ้น เป็นการเดินทางทางเลือกที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่อาจจะเหมาะกับบางคน อย่างน้อยก็ช่วยเสริมกันและทำให้เมืองสะดวกมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า Micromobility เป็นเครือข่ายที่ดี ทำให้เห็นปัญหาของเมืองได้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่การเดินทาง อาจจะเห็นว่าจุดนี้มีขยะ ทางเท้าไม่ดี เหมือนเป็นคนช่วยแจ้งเหตุ ถ้าเราอยู่บนรถเราจะไม่เห็นปัญหาพวกนี้ แต่ถ้ามาเดินติดกับดิน ก็จะเห็นปัญหาพวกนี้มากขึ้น เป็นเครือข่ายที่ช่วยแจ้งเหตุให้ กทม. ด้วย