เกษตรกรที่เสร็จสิ้นการทำนาปีแล้วนิยมปลูกผักหลังการทำนาเพื่อเป็นรายได้เสริม “ฟักทอง” พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูกช่วงหลังการทำนา เกษตรกรจะประสบความสำเร็จในการผลิตฟักทองให้ได้คุณภาพ จึงต้องศึกษาถึงลักษณะนิสัยของพืชชนิดนี้ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม การเตรียมดินก่อนปลูก การให้น้ำ-ปุ๋ย ตลอดจนปัญหาของโรค-แมลงศัตรู เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันกำจัด และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

การเตรียมพื้นที่ปลูกฟักทอง ฟักทองเป็นพืชผักที่มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นเช่นเดียวกับแตงโม ฟักทองเป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ มีหนวด สำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดินจึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีอายุปีเดียว (ฤดูเดียว) เมื่อให้ผลแล้วก็ตายไป ฟักทองจัดเป็นพืชที่มีระบบรากลึก การเตรียมแปลงปลูกจึงต้องไถดินให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตากดินไว้ 5-7 วัน เพื่อเป็นการไล่แมลงศัตรูในดินและฆ่าเชื้อโรคบางชนิด ในการเตรียมแปลงปลูกควรมีการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของดินให้มีค่า pH 6.0-6.8 หากดินมีสภาพเป็นกรดควรปรับสภาพโดยใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ ใส่ระหว่างการเตรียมแปลงปลูก การใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ในการปรับปรุงสภาพดินจะช่วยลดการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ในระดับหนึ่ง ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว โดยพิจารณาการใส่ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งนี้หากเกษตรกรนำดินส่งวิเคราะห์ (ที่กรมพัฒนาที่ดินในแต่ละจังหวัด) เกษตรกรก็จะทราบว่าที่ดินของตนเองมีปริมาณธาตุอาหารในดินสามารถที่จะทราบถึงปริมาณธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน และควรจะเพิ่มเติมอะไร เท่าไรรวมถึงการเลือกใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสม เป็นต้น เพื่อให้ฟักทองเจริญเติบโตดี

การเลือกเตรียมแปลงปลูกฟักทองสามารถเลือกปลูกได้หลายรูปแบบ ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกเป็นส่วนสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่นวิธีแรก หากมีพื้นที่ปลูกเพียงเล็กน้อย สามารถปลูกระยะ 1.5×1.5 เมตร วิธีนี้เมื่อฟักทองโตขึ้นจะทำให้ลำบากต่อการจัดการเนื่องจากเถาจะกระจายเต็มพื้นที่ แต่มีข้อดีคือจะได้ผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น วิธีที่สอง การปลูกแถวเดี่ยว ทำแปลงแถวเดี่ยวความกว้างของแปลง 1.8-2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.5 เมตร เมื่อปลูกฟักทองสามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยไปในแนวแปลงปลูกทำให้ง่ายต่อการจัดการมากกว่าวิธีแรก วิธีที่สาม การปลูกแบบแถวคู่ ยกร่องแปลงเป็นสองด้านระยะ 3.5-5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร เช่นเดียวกับวิธีที่หนึ่งและสอง วิธีนี้สามารถจัดเถาฟักทองให้เลื้อยจดกันสองด้านพอดี และมีรองทางเดินทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น

การปลูกโดยหยอดเมล็ดโดยตรงหรือเพาะกล้าพิจารณาจากต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ การเลือกเมล็ดพันธุ์ฟักทองที่ใช้ปลูกกันทั่วไปมี 2 แบบ คือ เมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิด เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้เอง ซึ่ง “สวนคุณลี” อ.เมือง จ.พิจิตร โทร.08-1886-7398 เลือกปลูกฟักทองพันธุ์แบบผสมเปิด ที่มีชื่อเรียกว่า “ฟักทองสายพันธุ์ดี” ซึ่งสามารถคัดเลือกพันธุ์เก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้ตลอด ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์อีกเลย และมีลักษณะพันธุ์ที่ดี คือ เนื้อหนา เนื้อหวานเหนียว สีเนื้อเหลืองสวย ผิวแบบหนังคางคก