เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (2 สิงหาคม) เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่งรัชดา สื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
โดยขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็น “เรื่องจริง” ก็อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย
อีกทั้ง การที่ให้ กสทช.สั่งระงับสัญญาณจาก IP Address เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแน่นอน เพราะ IP Address ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลเหมือนเลขบัตรประชาชน แต่เป็นเหมือนบ้านเลขที่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายๆ คน ผ่าน Wifi ที่อาจมีคนเข้าใช้อินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮกเข้ารหัสได้
นอกจากนี้หมายเลข IP Address ที่ user เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช.ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า ผู้ที่ถูกระงับสัญญาณอาจไม่ใช่ผู้ที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าวแล้วก็ได้
นอกจากนี้ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิการฉีดวัคซีน สิทธิเยียวยาจากรัฐด้วยการลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ต ยังไม่นับรวมมาตรการของรัฐที่จำกัดการเดินทางและการพบปะสมาคมของประชาชน ดังนั้น อินเตอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ดี มาตรา 9(3) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่ง “ตัดอินเตอร์เน็ต” หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ดังนั้น ข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทั้งผู้ออกก็ใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบเพราะไม่มีฐานของกฎหมายให้อำนาจ เป็นการละเมิด จำกัดและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ซึ่งได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามวิถีระบอบประชาธิปไตย