มื่อวันที่ 13 มิ.ย. ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผอ.สถาบันฮาลาล ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา ม.อ.ปัตตานี นายซอลาฮุดดีน หะยียูโซะ เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ร่วมแถลงข่าว มหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 (Asean Halal Expo 2022) ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค. ณ ศูนย์การค้าอาเซียนมอลล์ปัตตานี

ผศ.ดร.อัสมัน กล่าวว่า สำหรับมหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน 2565 (Asean Halal Expo 2022) เพื่อยกระดับความสามารถ และสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้า และบริการฮาลาลไทยสู่ตลาดฮาลาลอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิชาการฮาลาลให้เกิดการพัฒนาสินค้าละบริการฮาลาล ในงานมีการแสดงนิทรรศการฮาลาลนานาชาติ นิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนฮาลาล การแสดงสินค้าฮาลาลเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเดินทางมาชมและจับจ่าย หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย หลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างยาวนาน

ภายในงานมีการแสดงสินค้าฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ กว่า 120 ร้านค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางฮาลาล (ผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเวชภัณฑ์ฮาลาล) เครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ อาหารฮาลาลปรุงสดด้วยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวใต้ อีกทั้งในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้ และกิจกรรมการแข่งขันต่างๆ

อย่างไรก็ตาม มหกรรมแสดงสินค้าฮาลาลอาเซียน ถือเป็นแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ในภาคใต้ ซึ่งเดิมจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ปีนี้จะจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยประชาชนชาวไทยพุทธ ก็สามารถมาเลือกซื้อได้ คาดว่าจะมีประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก

ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากประเทศจีนและประเทศอินโดนีเซีย สะท้อนถึงตลาดฮาลาลของไทยยังเต็มไปด้วยโอกาสให้ผู้ประกอบการมาขยายธุรกิจในตลาดนี้ได้อย่างมาก

จากข้อมูลทางสถิติล่าสุดในปี 2560 อาหารฮาลาลในตลาดโลก มีผู้บริโภคเป็นชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2,140 ล้านคน เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีมูลค่าได้ถึงประมาณ 162,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอาหารฮาลาลโลก ได้แก่ อาหารแปรรูปต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ SME ไทย และวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพในการผลิต อาทิ ผัก และผลไม้ท้องถิ่นแปรรูป เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มสมุนไพร