เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ชาวบ้านกว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันที่ศาลาหมู่บ้านศิลาทอง หมู่ 10 ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ เกี่ยวกับปัญหาช้างป่า บุกเข้ามาทำลายพืชสวนเกษตร โดยเฉพาะต้นทุเรียนในพื้นที่จำนวนมาก และทำร้ายชาวบ้านจนเสียชีวิตมาแล้วหลายราย โดยมีนายพิทักษ์ อินทศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) นายนิทัศน์ นุ่นสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง นางอัมพวัน เพไร นอภ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี นายเศรษฐชัย อาภาขจร ปลัดอำเภอแกลง จ.ระยอง นายประยุทธ์ พานทอง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแกลง จ.ระยอง เข้าร่วมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากช้างป่าที่เกิดขึ้น ในพื้นที่คาบเกี่ยว จ.ระยอง-จ.จันทบุรี

นายไพโรจน์ ยั่งยืน อายุ 62 ปี อบต.กองดิน เปิดเผยว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่า ที่บุกเข้ากินทุเรียน และ ทำลายต้นทุเรียน ไป 50 ต้น คือถอนรากถอนโคน เสียดายมากทุเรียน อายุประมาณ 10 ปี กำลังออกผลผลิตอย่างดี กลับมาถูกช้างป่าบุกทำลาย มูลค่าความเสียหายร่วมล้านบาท แต่ไม่รู้จะไปเรียกร้องกับหน่วยงานไหน จึงก้มหน้ารับกรรม เพราะหากชาวบ้านไปทำร้ายช้างถึงกับติดคุก แต่ช่างทำลายพืชผลและฆ่าคน กลับไม่มีมาตรการใดเลย ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหามาตรการช่วยเหลือด้วย ก่อนที่ต้นทุเรียนจะไม่เหลือสักต้น

ต่อมานายถวิล ประเสริฐกุล อายุ 45 ปี ได้ พาเข้าตรวจสอบภายในสวนทุเรียน ในพื้นที่หมู่ 10 ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง ที่เพิ่งถูกช้างบุกทำลาย เมื่อเข้าถึงที่สวนทุเรียน ซึ่งเป็นสวนทุเรียนเก่าแก่ อายุกว่า 30 ปี มีลำต้นขนาดใหญ่ แต่ก็ตกใจเมื่อพบกับต้นทุเรียนอายุกว่า 30 ปี ถูกถอนรากถอนโคนล้มระเนนระนาดนับสิบต้น และ ยังพบว่า ต้นทุเรียนที่ยังยืนต้นอยู่ถูกช้างใช้งาแทงจนลำต้นเป็นรู

นายถวิล เปิดเผยว่า ต้นทุเรียนที่ล้มจำนวนกว่า 10 ต้น เพิ่งถูกช้างป่า 4 ตัว บุกเข้าทำลายถอนรากถอนโคน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สาเหตุที่ถอนรากถอนโคน เพราะช้างเก็บลูกทุเรียนที่บนยอดไม่ถึงเลยใช้วิธีล้มต้น เพื่อเอาลูกทุเรียนลงมากิน ตนไม่รู้จะป้องกันอย่างไร แค่เอาตัวรอดยังยากเลย

นายประยุทธ์ พานทอง ประธานกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าบุกชุมชนทำลายพืชสวน นับเป็นปัญหาใหญ่ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและชาวบ้าน ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วนกันดูแลความทุกข์ร้อนของชาวบ้านด้วย ช่วยอนุรักษ์คนในพื้นที่ด้วย อย่าอนุรักษ์แต่ช้าง คนตายได้ค่าทำขวัญ 30,000 บาท แต่ถ้าใครทำช้างตายติดคุก ซึ่งทางชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ยื่นข้อเรียกร้อง ดังนี้ คือ ผลักดันช้างให้ออกจากพื้นที่ และเยียวความเสียหายที่เกิดขึ้น

นายพิทักษ์ อินทศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ทุกฝ่ายต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ความเดือดร้อนจากช้างป่า ข้อมูลปัจจุบันในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก มีช้างป่ากว่า 400 ตัว กระจายกันออกไปในแต่ละพื้นที่ชายป่าของแต่ละจังหวัด ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาช้างป่าสร้างความเดือดร้อนยังคงเกิดขึ้น จะได้มีการหารือกับทุกฝ่าย เพื่อหาทางแก้ปัญหา และจะนำข้อเสนอจากชาวบ้าน ไปเสนอหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป เบื้องต้นหากพบช้างป่าก็ให้แจ้งทางเจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างในพื้นที่ ได้ทันที