เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นาย​เชษฐา​ โม​สิก​รัตน์​ ผวจ.แม่ฮ่องสอน พร้อมด้วย นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในกิจกรรมการฝึกอบรมสร้างการรับรู้ความเข้าใจเพื่อรักษามาตรฐานการผลิตและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมอบใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้า ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน และกระเทียมแม่ฮ่องสอน หรือ GI Maehongson : Green agriculture for Life ณ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดแม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

โดยมีกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 350 คน เป็นผู้ได้รับอนุญาตกระเทียมแม่ฮ่องสอน 88 ราย ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน 142 ราย รวมทั้งสิ้น 230 ราย ทั้งมาจากอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า อำเภอขุนยวม และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ภายงานมีพิธีมอบใบอนุญาตผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอนและกระเทียมแม่ฮ่องสอน นิทรรศการการแสดงสินค้า การพัฒนาต่อยอดไอเดียธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า GI การเสนอไอเดีย/ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ แปรรูปสินค้า โดยเชฟ/ผู้ประกอบการผู้มีประสบการณ์ และการจับคู่เจรจาธุรกิจปิดยอดสต๊อกสินค้า GI ในหัวข้อ Green Business Matching “เวทีแห่งการสร้างโอกาสและขยายธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ก่อนจะมาเป็น “GI Maehongson”

นายอัครเดช เปิดเผยว่า อบจ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการพัฒนาและยกระดับสินค้าเกษตรที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้สามารถแข่งขันด้านราคาด้วยคุณภาพ มีกระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการขอรับการจดขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication (GI) เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการผลักดันการผลิตสินค้าเกษตรเชิงคุณภาพ และได้ดำเนินการจัดทำระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการผลิตให้กับผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งคาดหวังการแข่งขันด้านราคาในท้องตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว 2 ชนิด ได้แก่ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ทะเบียนเลขที่ สช 64100153 มีผลตั้งแต่ 9 ธ.ค. 62 และกระเทียมแม่ฮ่องสอน ทะเบียนเลขที่ สช 64100168 มีผลตั้งแต่ 22 พ.ค.63 และมีผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้าถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอนจำนวน 88 ราย สินค้ากระเทียมแม่ฮ่องสอน 142 ราย

นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรผู้ผลิตสินค้าทั้ง 2 ชนิด ตลอดจนถึงเกษตรกรประชาชนในพื้นที่รวมถึงส่วนราชการ หน่วยงานเอกชนในพื้นที่ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตามวัตถุประสงค์การจดขึ้นทะเบียน สร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้แก่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้านคุณภาพและข้อมูลการผลิตสินค้าได้ เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในกระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้า สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมหมู่บ้านท่องเที่ยวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โอกาสในการผลักดันสินค้าชุมชนก้าวสู่ตลาดระดับประเทศและระดับสากล ดังนั้นเพื่อส่งเสริมเพิ่มมูลค่าและยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐานและสามารถรักษามาตรฐานการผลิต สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์

นายชาตรี คำจิ่ง เกษตรกรผู้ปลูกกระเที่ยมตำห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาด้านราคาผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะปัญหากระเทียมมีราคาไม่แน่นอน การยกระดับผลิตผลทางการเกษตรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้แก่ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นโอกาสของเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีช่องทางการจำหน่ายที่แน่นอน ได้ราคา ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้มากขึ้น