เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 มิ.ย.2565 นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วย นายมนตรี สิงหปุณภัทร รองนายกเทศมนตรี นำสมาชิกสภา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมขัง ที่บริเวณ ซอยฉิมพลี 9/3 และ 9/5 ชุมชนโนนทัน 1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมขังถนนและบ้านเรือนของประชาชน จากพายุฝนที่ตกลงมาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยังคงมอบถุงยังชีพและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เพื่อให้กำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยที่ประสบปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น  

นายธีระศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า เดิมคลองร่องเหมือง ซึ่งเป็นการจัดการจราจรน้ำสายหลักของเทศบาลฯ กำหนดการรองรับปริมาณน้ำได้ที่ 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา พบว่าฝนตกลงมาในเขตเทศบาลมากถึง 90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และตกต่อเนื่องนานกว่า 2 ชม. ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง และรอการระบาย ซึ่งคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายได้เร่งระบายน้ำในจุดที่มีการท่วมขัง และเส้นทางการคมนาคมทุกจุดเพื่อให้น้ำลดระดับลงให้เร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์เริ่มทรงตัว คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะกับพื้นที่น้ำท่วมขังจุดใหม่ซึ่งพบว่าภายในซอยฉิมพลี นั้น มีการระบายน้ำไม่ทันและเกิดน้ำท่วมขัง โดยมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างที่ปิดเส้นทางน้ำไหล

“จากเดิมน้ำที่ไหลมาในจุดนี้ จะไหลลงไปตามเส้นทางน้ำ แต่มาปีนี้มีการท่วมขังและระบายไม่ทัน และเส้นทางน้ำเปลี่ยนไป จึงมีการหารือร่วมกันในการวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชนรอบบึงแก่นนคร ด้วยการเตรียมเสนอแผนต่อที่ประชุมสภา เพื่อจัดสร้างและปรับปรุงระบบระบายน้ำโดยรอบบึงแก่นนคร เพื่อให้การระบายน้ำนั้นเป็นไปอย่างคล่องตัว ตามเส้นทางน้ำและการจัดการจราจรทางน้ำร่วมทุกฝ่ายที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ตำบลรอบข้าง มีการวางท่อ และระบายน้ำไหลเข้าเขตเทศบาลฯ แทบโดยทั้งหมด” 

นายธีระศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้การติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในจุดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญมีการติดตั้งแล้วเสร็จและสามารถที่จะระบายน้ำได้ทันทีหากเกิดภาวะฝนตก ขณะเดียวกัน บึงทุ่งสร้างที่เป็นพื้นที่รับน้ำหลักของเมือง ก็มีการระบายน้ำออกเพื่อรองรับมวลน้ำในช่วงหน้าฝน ซึ่งบึงทุ่งสร้างยังคงรองรับน้ำได้อีกกว่า 5 เมตร ขณะที่บึงแก่นนคร มีการระบายน้ำเพื่อเตรียมการรองรับน้ำได้อีกประมาณ 1.30 เมตร อย่างไรก็ตามจากแผนงานบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ยังคงมั่นใจว่าทันทีที่เกิดฝนตกการระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำในเขตเมือง จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ทันที เพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจของจังหวัด ไม่ให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมอย่างเด็ดขาด