ต้องยอมรับกันตรงๆแล้วว่า สภาพเมืองไทยในขณะนี้ เหมือนการยืนอยู่บน “ปากเหว” ของปัญหาทุกๆ ด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดนาทีนี้คือการให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ให้กำลังใจประชาชนคนไทยด้วยกันเอง และให้กำลังใจตัวเอง ให้อดกลั้นฝ่าสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปให้ได้
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อยอดผู้เสียชีวิตทำสถิตินิวไฮทุกวัน กระตุกต่อมความสะพรึงกลัวของคนไทยทุกคน เพราะล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานเข้าใกล้ 20,000 คนต่อวัน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตรายวัน เฉียดเข้าใกล้ตัวเลข 200 คนอยู่รอมร่อ
นอกจากนั้นยังทำให้เกิดข่าว “ข่าวลือ-ข่าวลวง” เกี่ยวกับโควิด-19 ออกมาเขย่าขวัญคนไทยไม่เว้นแต่ละวัน จนภาครัฐต้องออกมาชี้แจง “ข่าวลือ-ข่าวลวง” กันแบบพัลวัน จน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาส่งสัญญาณไล่บี้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เดินเกมรุกตอบโต้ชี้แจงข่าวลือ-ข่าวลวงให้ทัน แถมยังสั่งดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับคนที่รัฐบาลตีความว่าเป็นตัวการเผยแพร่ข่าวลือ-ข่าวลวง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยมีการชี้เป้ามาที่ สื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ แต่งานนี้ก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะถูกมองว่าเป็นการปิดปากสื่อ-ปิดหูประชาชน เนื่องจากหน้าที่ของสื่อจำเป็นต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ แต่หลายครั้งข้อมูลข่าวสารที่สร้างความสับสนกลับเกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลและศบค.เอง!
แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่หนักหน่วง กลับยังปรากฎภาพผู้คนไปกระจุกตัวกันรอฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่มุมกล้อง! ซึ่งงานนี้แม้ที่ประชุม ศบค. และ “บิ๊กตู่” จะรับทราบถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
สาเหตุหลักของปัญหานี้คือจำนวนวัคซีนที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องไปเบียดแย่งกันเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีน ในจุดที่มีการจัดสรรให้มากที่สุด จนเกิดความกังวลของผู้คนในสังคมว่าอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มคนที่ไปรวมตัวเพื่อรอฉีดวัคซีน จนกลายเป็น “คลัสเตอร์สถานีกลางบางซื่อ” หากไม่มีการบริหารจัดการให้เหมาะสมมากกว่าที่เป็นอยู่
แต่บรรยากาศที่ “สถานีกลางบางซื่อ” กลับสวนทางกรณี “บุรีรัมย์” ที่ก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก เป็นอันดับ 8 ของประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด แต่กลับได้รับจัดสรรวัคซีนสูงกว่าจังหวัดปทุมธานีที่เป็นพื้นที่สีแดงด้วยซ้ำ และล่าสุดเกิด “ดราม่าวัคซีนเข็ม 3” เมื่อมีการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 3 ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์อย่างที่ควรจะเป็น แม้จะมีข้อแก้ต่างว่าเป็น “วัคซีนก้นขวด” ที่นำมาฉีดให้นายตำรวจดังกล่าว
จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะคนดูแลกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงหลักในจังหวัดบุรีรัมย์ แม้งานนี้โฆษกรัฐบาลจะออกมารับหน้าแทนว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฉีดนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการส่งผู้ป่วยไป-มา ดังนั้นถือเป็นบุคลากรด่านหน้าส่วนหนึ่ง แต่ก็ดูจะไม่ช่วยทำให้ความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันจากกรณีดังกล่าว กลับส่งผลให้ “เสี่ยหนู” ถูกจัดเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในโซนวิกฤติศรัทธา ตาม“บิ๊กตู่” ไปอีกคนแล้ว
ประจวบเหมาะกับปัญหาความขัดแย้งในการบริหารจัดการวัคซีน ที่เกิดการปะทุขึ้นกลางวงประชุม ครม. ระหว่าง อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้ว่าฯกทม. จนทำเอา “บิ๊กตู่” ต้องออกมาหย่าศึก แต่งานนี้จริงๆ แล้วมีรอยร้าวระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า ผู้บริหารงานในท้องถิ่น ซึ่งคนที่ต้องรับกรรมก็คือประชาชนตาดำๆ
ทั้งนี้ต้องยอมรับกันได้แล้วว่าเราแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 และเรื่องวัคซีนกันแบบ “ตาบอดคลำช้าง” กันมานานเกินพอแล้ว โดยผลลัพธ์ที่ประจักษ์ชัดที่สุดก็คือตัวเลขผู้ติดเชื้อ ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวัน ภาพคนตายคาบ้าน-ตายข้างถนน เด็กหลายคนต้องกลายเป็นกำพร้าจากปัญหาโควิด แม้จะมีเสียงกดดันก่นด่าจากประชาชนทั่วสารทิศไปยัง ตัว “บิ๊กตู่” และรัฐบาล แต่ก็ยังไม่ทำให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่เปลี่ยนไปจากเดิม ยังไร้ซึ่งวี่แววของการแก้ปัญหาที่พอจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้เลย
และยังไม่รวมกับ “รอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาล” ที่ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างจ้องเสียบแทงข้างหลังกันเอง มีการจับคู่ชกกันไม่แคร์สายตาประชาชน ของ ส.ส.ในพรรครัฐบาลด้วยกันเอง จนใครต่อใครต่างมองกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” จาก “วิกฤติโควิด” ที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว ถูกซ้อนทับด้วย “วิกฤติการเมือง” จนล่าสุดมีการตีข่าวโดยวิเคราะห์ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เลยไปถึงกระแสข่าวเรื่อง “นายกฯพระราชทาน” จนมีการออกมาปฏิเสธกันว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่ทิ้งเก้าอี้นายกฯ และไม่ใช่นายกฯพระราชทานตามข่าวลือ
แต่ความร้อนแรงทางการเมืองยังไม่จบ เพราะ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ยังต้องเจอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ตอนนี้รับมีด-เช็ดเขียงรอกันแล้ว โดยมีการวงไทมไลน์ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งกางโจทย์ซักฟอกพุ่งเป้าไปที่เรื่องเรือดำน้ำเป็นพระเอก โดยมีการจองกฐิน “2 ป.” ทั้ง “บิ๊กตู่” ในฐานะ รมว.กลาโหมที่เป็นคนเซ็นอนุมัติงบ และ “บิ๊กป้อม”ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่มีข่าวเรื่องคนสนิทไปพัวพันกับจีทูจี
แม้ท้ายที่สุดเกมในสภาจะไม่สามารถทำอะไรบรรดา “บิ๊กท็อปบู๊ต” ได้ แต่ก็จะเป็นกระจกสะท้อนให้ประชาชนเห็นถึงความน่าเชื่อถือในรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ “การเมืองนอกสภา” ก็เริ่มคุกรุ่นขึ้นอีกระลอก เมื่อมีการปักหมุดจัดคาร์ม็อบ ในวันที่ 1 ส.ค. เพื่อกดดันให้ “บิ๊กตู่” ลาออก แม้การลงถนนจะไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานต่อรัฐบาลได้มากนัก แต่จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเสียงเรียกร้องของประชาชนเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ
และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “การเมืองโซเชียล” โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ยังคงออกมาฟาดรัฐบาลเรียกคะแนนนิยมได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดออกมาในช่วงวันเกิด ที่มีการสอนมวย “บิ๊กตู่” ว่าคนเป็นนายกฯควรจะสวมชุด PPE ลงพื้นที่เพื่อเรียกแรงศรัทธาจากประชาชน แทนการเวิร์กฟรอมโฮม แถมยังซัดหมัดตรงว่า “การเป็นนายกฯ อำนาจรวมศูนย์แล้ว ถ้ายังแก้ไม่ได้ มันก็ไม่ควรอยู่” และยังแซะไปถึง “บิ๊กท็อปบู๊ต” เรื่องการปฏิวัติ 2549 ว่า “นึกว่าเขาปฏิวัติแล้วจะทำอะไรที่มันฉลาดๆ แต่ปฎิวัติแล้วก็ยังโง่อยู่ถึงทุกวันนี้” ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ “โทนี่” น็อก “บิ๊กตู่” บนสังเวียนความนิยมทางการเมืองไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามถึงแม้ขณะนี้จะมีเสียงเรียกร้องให้ “บิ๊กตู่” ลาออกดังกระหึ่มทั่วประเทศ แต่เมื่อคลี่กติกาออกดูแล้ว ก็น่ากังวลไม่แพ้กัน หาก “บิ๊กตู่” ลาออก คำถามคือใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯ เพราะกติกาต้องเลือกจากชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่เสนอกันไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยจะเหลือรายชื่อคนที่มีคุณสมบัติ 5 คน คือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกเสนอชื่อไว้เมื่อครั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแคนดิเดตที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคเพื่อไทย 3 ราย คือ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ดังนั้นเมื่อดูจากรายชื่อแคนดิเดตที่เหลืออยู่ในขณะนี้ การที่จะเลือกนายกฯในบัญชีนี้ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ “3 ป.” ไม่แฮปปี้ เพราะจะไม่สามารถคุมเกมอำนาจได้เหมือนก่อน ดังนั้นหาก “3 ป.” ไม่แฮปปี้กับตัวเลือก ก็เป็นไปได้ว่า ส.ว.ก็จะไม่ยกมือให้เช่นกัน
ซึ่งหากการเมืองเดินไปถึงจุดนี้จริง “วิกฤติการเมือง” อาจจะหนักหน่วงและร้อนแรงมากกว่านี้ เพราะจะเป็นการชิงอำนาจกันที่ชุลมุนระหว่าง “บิ๊กท็อปบู๊ต”กับนักการเมือง และยังหักเหลี่ยมระหว่างนักการเมืองด้วยกันเองอีกด้วย
ภาพรวมทั้งหมดยังคงยุ่งเหยิง มองไม่เห็นทางออกของประเทศ ท่ามกลางวิกฤติโควิดยังคงรุมเร้า วิบากกรรมทางการเมืองของรัฐบาลก่อตัวมากขึ้นภายใต้วังวนกับดักปัญหา สุดท้ายคนที่ต้องรับกรรมสุดแสนสาหัสก็หนีไม่พ้นประชาชน แต่ก็ต้องขอให้ทุกคนกัดฟันสู้กันต่อไป.