ความไม่เด็ดขาด มาตรการล็อกดาวน์ที่ไม่เหมือนล็อกดาวน์ ส่งผลให้การติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว แตะหลักหมื่นรายวันแรกเอาวันที่ 17 ก.ค. เสียชีวิต 141 ราย นับจากวันนั้นถึงปลายเดือน (31 ก.ค.) จากหมื่นต้นๆ ทะยานสู่ยอด 18,912 ราย เสียชีวิต 178 ราย ทุบสถิติกันทุกวัน!

โดยเฉพาะการเสียชีวิตตามบ้านที่เริ่มมีรายงานออกมาให้เห็น บางวันหลักหน่วย บางวันหลักสิบ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำเข้าไม่ถึงการตรวจ ลำพังชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิด (ATK) ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดสรรฟรียังไม่เพียงพอ บางส่วนเปิดขายทำให้คนจนเข้าไม่ถึง และสุดท้ายเข้าไม่ถึงระบบการรักษา

ทุกวันนี้บุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แต่จำนวนผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการหนัก และหนักถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ที่พุ่งขึ้นไปตามอัตราการติดเชื้อในแต่ละวัน ตัวเลขออกมาตอนนี้โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขไปแล้วอย่างน้อย 5 เท่า

แต่นี่ยังไม่ใช่จุดพีค!

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาอธิบายถึงแบบจำลองสถานการณ์การระบาดของโรคในอนาคต 3-4 เดือนข้างหน้า ตอนหนึ่งระบุว่า “หากเราไม่มีมาตรการใดๆ เลย ไม่มีการล็อกดาวน์ เราจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งมากกว่า 4 หมื่นราย เสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวัน พีคสุดๆ กลางเดือน ก.ย.นี้”

แต่ถ้ามีมาตรการล็อกดาวน์ 1 เดือน และประชาชนให้ความร่วมมือดีจะเห็นตัวเลขการระบาดต่อวันลงมาอยู่ที่ 3 หมื่น และลงเรื่อยมา จนอยู่ราวๆ  2 หมื่นรายต่อวัน เสียชีวิตประมาณ 400 รายต่อวัน ไปพีคในเตือน ต.ค.หรือหากล็อกดาวน์นานกว่านี้ ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี โดยการหยุดอยู่บ้าน ไม่รวมกลุ่มชุมนุมที่ไม่จำเป็น ตัวเลขติดเชื้อจะต่ำลงกว่า 2 หมื่นรายต่อวันได้

ถ้าดูจากการคำนวณที่ออกมานี้จะเห็นว่า ถึงอย่างไรตัวเลขการติดเชื้อต่อวันก็ยังสูงอยู่ในข่ายน่ากังวลทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือ “อัตราการเสียชีวิต” ที่คาดว่าจากการปูพรมฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ แม้ตอนแรกจะผิดแผนจากที่วางไว้ แต่วันนี้ถือว่าฉีดกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นเกือบครอบคลุมแล้ว รวมถึงการเสริมทีมบุคลากรสาธารณสุขจากภูมิภาคเข้ามาค้นหาผู้ป่วย น่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขพยากรณ์เอาไว้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ออกได้ 2 ทาง คือ 1. สถานการณ์แย่ลงตามการพยากรณ์ กับ 2. สถานการณ์ดีขึ้นจากที่คาดการณ์ ซึ่งจะมีตัวแปรสำคัญ 2 ส่วน ที่ต้องทำคู่กับมาตรการทางสาธารณสุขคือ “มาตรการล็อกดาวน์ มาตรการคุมโรคของรัฐ” และ “ความร่วมมือของประชาชน” ที่บอบช้ำมามากจากการเผชิญโรคระบาดยาวนานมาปีกว่าๆ “ขอแรงฮึด” กันอีกสักรอบ

วันนี้ถึงกำหนดที่ ศบค. มาทบทวนมาตรการกันแล้ว แนวโน้มน่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ก็เห็นขู่กันอย่างนี้มาตลอด “อู่ฮั่นโมเดล” บ้างละ แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติ เห็นแล้วเหนื่อยใจ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่นั่งหัวโต๊ะทุกคณะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด ต้องมีความเด็ดขาด ประกาศแล้วต้องศักดิ์สิทธิ์ เพราะเดือนสิงหาฯ เป็นเดิมพันสุดท้ายว่าจะสามารถดึงกราฟการติดเชื้อ-เสียชีวิตไม่ให้สูงลิบลิ่วตามคำการจำลองฉากทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่.