เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่อร้อยสายนำสายสื่อสารลงใต้ดิน รวมถึงรับฟังรายงานสัญญาการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่า โครงการก่อสร้างท่อร้อยสายมีการตั้งงบประมาณไว้กว้างๆ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท รูปแบบการก่อสร้างที่ไม่ทราบว่าข้างล่างจะมีอะไรบ้าง ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ติดขัดปัญหาเรื่องการหารายได้ เพราะยังหาผู้เช่าท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิค จึงต้องดูรายละเอียดในการทำสัญญาอีกครั้ง

ส่วนอีกประเด็นสำคัญในการหารือวันนี้คือ สัญญาที่เคทีจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายถึงปี 2585 ซึ่งเคที ได้อธิบายรายละเอียดสัญญาจ้างเดินรถ เหตุผลการจ้างระยะยาว รวมถึงการก่อหนี้เป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้นำข้อมูลไปศึกษาต่อ ส่วนเรื่องการให้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลัก “สายสุขุมวิท” และ “สายสีลม” สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ทั้งนี้ เคที เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของรถไฟฟ้าสายสีเขียว คาดว่าภาพรวมเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

นอกจากนี้ เคที ได้รายงานภาระหนี้สินการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายประมาณ 40,000 ล้านบาท ว่า ได้นำรายได้ส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง ตากสิน-บางหว้า จ่ายให้เอกชนบางส่วนแล้ว สำหรับส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้ยังให้บริการฟรีไม่เก็บค่าโดยสารทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจจะต้องเก็บค่าโดยสารเพราะนั่งฟรีมานานแล้ว ตามหลักการใครใช้ก็ต้องจ่าย ปัจจุบันคน กทม.ที่จ่ายค่ารถไฟฟ้าต้องรับภาระหนี้ให้กับคนที่นั่งฟรีด้วย ดังนั้นอย่าเอาเรื่องหนี้มาเร่งรัดการต่อสัญญาสัมปทานระยะยาว เพราะการเปิดนั่งฟรีเอกชนก็ได้รับผลประโยชน์เป็นการนำผู้โดยสารมาป้อนให้กับเส้นทางไข่แดงตรงกลางด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ นายชัชชาติ กล่าวถึงหนี้สินที่ กทม.รับโอนมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายจาก รฟม. ซึ่งในเงื่อนไขที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตาม ม.44 ได้เสนอต่อสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าฯ ระบุว่า เอกชนต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนนี้ด้วย โดยมองว่าไม่อยากให้เอาหนี้สินมาเป็นตัวเร่งรัดให้มีการต่อหรือขยายสัญญา และมองว่าหากรัฐเป็นผู้กู้เงินเอง ดอกเบี้ยก็จะถูกกว่าที่เอกชนกู้เงิน ในส่วนนี้จึงต้องศึกษาและดูรายละเอียด ที่ผ่านมา เคยมีการเสนอสภา กทม. ออก พ.ร.บ.กู้ยืมเงินเพื่อมาใช้หนี้ในส่วนดังกล่าว ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องดูรายละเอียดโดยตนจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

“จริงๆ กทม.อยากคืนหนี้ให้รัฐบาล เพราะหนี้บางส่วนอยู่ที่ปากน้ำ อยู่ปทุมธานี วิ่งให้บริการในเขตปริมณฑลไม่มีปัญหา แต่ต้องดูความยุติธรรมเพราะรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีเหลือง สายสีชมพู รัฐกู้เงินจ่ายคืนค่าโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนไม่แพงมาก” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารลงดิน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ กทม.ต้องจัดระเบียบปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้ดูสะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง สอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.61 ซึ่งให้ กทม.ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบัน กทม.ได้มอบหมายให้เคที ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินนำร่องเสร็จแล้วเป็นระยะทาง 7.2 กม. วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี-แยกเพลินจิต-หน้าซอยร่มฤดี) 2. ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2-หน้าซอยรัชดาภิเษก 7) 3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้เช่าท่อร้อยสาย ขณะเดียวกันเคทียังไม่ได้ลงทุนแต่อย่างใด