อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน-การสร้างผู้ประกอบการชุมชน


ที่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรนิเวศสันทราย (AgriEco) ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านฐานปฏิบัติการ กระบวนการสรรสร้างกลุ่ม จาก Greenconnex สันทรายโมเดล และ Homm Organic ฮ่อมออร์แกนิก ที่มีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืน สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรม จึงรวมกลุ่มกันในลักษณะของเครือข่ายทางสังคมขึ้น มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือ สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่ปลอดภัย การเข้าถึงอาหารอินทรีย์ในระบบตลาดที่เป็นธรรม รวมถึงการสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคต่อการบริโภคอาหารอินทรีย์ และด้วยลักษณะกลุ่มที่มีความหลากลายและมีต้นทุนเดิมในการผลิต การแปรรูปสินค้าทางการเกษตรอยู่แล้ว ทางกลุ่มจึงมีแนวทางในการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ร่วมกัน บนกระบวนทัศน์ของคนรุ่นใหม่ สำนึกรักษ์บ้านเกิดสู่การแบ่งปันประสบการณ์ด้านนวัตกรรมทางสังคม บนฐานคิดที่ว่า “การพัฒนาวิถีชีวิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความสมดุล บูรณาการการพัฒนาเกษตรเชิงนิเวศ ด้วยนวัตกรรมบนวิถีชีวิตคนสันทราย”


รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ม.แม่โจ้ ได้เข้าไปช่วยเหลือ/สนับสนุน จัดกิจกรรมอบรม ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาด้านการประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม สร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจผ่านการร่วมวิเคราะห์และสนทนาเกี่ยวกับจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของปัจจัยด้านทุนชุมชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียทุกระดับในธุรกิจ และการประเมินศักยภาพการเป็นผู้นำเชิงสังคมทางธุรกิจ การพัฒนาการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ชีสให้มีอายุที่นานขึ้น ตลอดจนการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และจัดทำ VDO Content Marketing เพื่อสามารถนำไปประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของผู้ประกอบการได้ในอนาคต


“ประโยชน์ที่วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับ คือ ได้รับการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำชุมชนและการสร้างทีม รวมถึงการพัฒนาทักษะในการปรับทัศนคติที่ดีต่อบทบาทภายในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้มีระบบและประสิทธิภาพมากขึ้นและมีศักยภาพ อีกทั้งยังได้เข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกในการจัดทำโมเดลทางธุรกิจ การวิเคราะห์หาคุณค่าที่ส่งมอบให้กับลูกค้า ปรับตำแหน่งทางการตลาดของสินค้ารวมถึงการบริการของกลุ่มวิสาหกิจ เพื่อจัดทำกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการทำให้ผู้ประกอบการมียอดขายที่เพิ่มมากขึ้นและเป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภคชีสมากขึ้น” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ ระบุ


นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังดำเนินแผนงานการพัฒนากระบวนการวิจัยของผู้ประกอบการ ให้กับวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรอินทรีย์เชียงราย ในการเสริมสร้างระบบการวิจัยและพัฒนาขององค์กร โดยเริ่มจากการพัฒนาความพร้อมของสถานที่สำหรับการรองรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาและกาแฟต้นแบบให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนถึงการประเมินความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์
“อุทยานฯ เข้าไปช่วยเหลือ/สนับสนุนด้วยการจัดทำ R&D Blueprint วิจัยและพัฒนา “ระบบวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตชาและกาแฟ” การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกระบวนการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตชา การระดมสมองเพื่อหาแนวคิดการพัฒนาและวิจัยกระบวนการผลิตชา และรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาและวิจัยกระบวนการผลิตชารวมทั้งพัฒนาระบบวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทั้งการเก็บใบชา การผึ่งชา การนึ่งชา หรือการคั่วชา การนวดชา การหมักชา การอบแห้ง การคัดบรรจุ โดยจะพัฒนากระบวนการผลิตชา จำนวน 3 ชนิด ดังนี้1.ชาเลือดมังกร 2.ชาเปลือกกาแฟ 3.ชากัญชง” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวและว่า
ประโยชน์ที่วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับหลังจากเข้าร่วมแผนงาน ในเชิงคุณภาพ วิสาหกิจฯ มีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตชาและกาแฟ คุณภาพสูง และมีความพร้อมด้านสถานที่และเครื่องจักรในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในอนาคต ขณะที่เชิงปริมาณ วิสาหกิจฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี มีการจ้างงานพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตชาและกาแฟอย่างน้อย 5 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี มีการลงทุนขยายกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ ชาและกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 กระบวนการผลิต