เมื่อวันที่ 30 พ.ค. น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โดยดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่นด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้กับชุมชนบางพระ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีโดยใช้แนวคิดการบริหารจัดการโดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) สร้างความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ในชุมชนโดยเน้นวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าวแท้จากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ทั้งนี้ อุทยานฯ ได้ช่วยเหลือในการอบรมน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อน และ ผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมซิลกี้แฮร์โค้ท (silky hair coat) และผลิตภัณฑ์แว็กซ์จัดแต่งทรงผมปิดผมขาว (wax) ในชื่อ “Re youth” (รียูธ)


น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนและสกัดเย็น โดยการนำน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนและสกัดเย็นที่สกัดได้มาเป็นส่วนประกอบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว อีกทั้งนำโจทย์ความต้องการของชุมชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จากการสำรวจพบว่า คนในชุมชนนิยมนำมะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ส่วนประกอบหลักชนิดหนึ่งที่มักใช้ในการประกอบอาหารคือน้ำกะทิ โดยจะนำมะพร้าวห้าวมาขูดเพื่อคั้นเป็นน้ำกะทิ หลังจากคั้นน้ำกะทิแล้วมักมีส่วนที่เหลือใช้ คือ กากมะพร้าว โดยปกติคนในชุมชนมักนำกากมะพร้าวไปใช้เป็นปุ๋ยในการโรยตามโคนต้นไม้ หรือนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น อาหารหมู และอาหารไก่ เมื่อได้วัตถุดิบดังกล่าวจากโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนแล้วจึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต้นแบบ 2 ชนิด คือ ผลิตภัณฑ์น้ำมันบำรุงเส้นผมซิลกี้แฮร์โค้ต (silky hair coat) และผลิตภัณฑ์แว๊กซ์จัดแต่งทรงผมปิดผมขาว (wax) โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมูลค่ารวม 1.6 ล้านบาทต่อปี จากกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ