อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงาน “การส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน”

มีผลงานเด่นในการพัฒนาชุมชน คือ “การยกระดับมาตรฐานการผลิตเครื่องแกงตำมือ ผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มปรุงสำเร็จ” ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเครื่องแกงสมุนไพรตำมือ บ้านทุ่งงาย หมู่ 6 ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก เครื่องแกงส้มตำมือแบบละเอียด ที่มีค่าผลการทดสอบทางจุลินทรีย์ที่สูงประกอบกับค่าความชื้น และปริมาณน้ำอิสระที่สูงมาก จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เครื่องแกงไม่สามารถเก็บไว้ได้นานที่อุณหภูมิห้อง แต่หากแช่เย็น เครื่องแกงก็จะยังสามารถเก็บได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่นานมาก ให้ได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มปรุงสำเร็จผ่านกระบวนการน็อกเชื้อผ่านเทคโนโลยีพาสเจอร์ไรซ์ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที และทำให้เย็นลงทันที เพื่อการเก็บรักษาให้น้ำแกงส้มมีอายุนานถึง 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ ที่เหมาะสมเพื่อช่วยยืดอายุเครื่องแกง ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมคือถุงพลาสติกชนิด Poly amide หรือถุงไนลอน หรือถุงซีลสุญญากาศ เนื่องจากถุงชนิดนี้ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ดี ไม่ฉีกขาดง่ายในระหว่างการเก็บรักษา และการขนส่ง ซึ่งถ้าหากใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ร่วมกับการบรรจุแบบสุญญากาศ จะเป็นการช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ตลอดจนพัฒนาด้านตราสินค้าใหม่ ภายใต้ชื่อ “ชะงาย” CHA-NGAI โดยใช้สัญลักษณ์รูปแบบความร่วมมือเพื่อสื่อถึงความร่วมมือของสมาชิกในชุมชนพร้อมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยมีภาพน้ำแกงส้มประกอบไว้ที่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ มีรูปส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้อยู่ด้านหลังบรรจุภัณฑ์ และได้จดคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้า

รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ยังให้ความรู้ด้านการตลาด เนื่องจากทางชุมชนยังขาดความรู้ในเรื่องของการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า และช่องทางการตลาด จึงได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ทำความเข้าใจว่าลูกค้าคือใคร และลูกค้าซื้อเพราะอะไร โดยเป้าหมายหลักของการตลาดก็คือการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการของธุรกิจ ผ่านการตลาดในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งองค์ประกอบของการตลาดพื้นฐานได้แก่ ราคา ผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการขาย และ ช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งทั้งสี่ปัจจัยนี้เป็นส่วนผสมการตลาดที่ต้องถูกออกแบบมาให้สอดคล้องเกื้อหนุนกัน และถูกสร้างให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า โดยคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพสมาชิกในชุมชนและสอนการเขียนแผนธุรกิจเบื้องต้น

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรสปาพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์เซ็ตสมุนไพรหลังคลอด ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านไอสะเตียร์ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสโดยพัฒนาจากผลิตภัณฑ์เดิมคือสมุนไพรแปรรูปเป็นลูกประคบ ให้เป็นสมุนไพรเซ็ตหลังคลอดพร้อมกระโจมโดยใช้สมุนไพรในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซ็ตอยู่ไฟหลังคลอด มีคุณสมบัติในการกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยให้หลอดลมขยายหายใจสะดวกมากขึ้น และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด โดยเพิ่มสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับมดลูกและสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนมเพิ่มขึ้น 5 ชนิด คือ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ไพลดำ ใบพลับพลึง ตะไคร้หอม โดยใช้เทคโนโลยีการอบสมุนไพรเข้ามาช่วยในการยืดอายุของสมุนไพร ไม่ให้เกิดความชื้นที่อาจจะทำให้สมุนไพรเกิดเชื้อราได้ ผลที่ได้คือ สมุนไพรสามารถเก็บได้เป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนโดยไม่เกิดความชื้น

“อุทยานวิทยาศาสตร์ ได้มาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ และพัฒนาด้านตราสินค้า ภายใต้ชื่อ “LK HERBS” และได้จดคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้าด้วย” เลขานุการ รมว.อว.กล่าวและว่า

“การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพตนเองด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น”