จากการที่ นักกีฬาทีมชาติไทย ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 12-23 พ.ค.65 นั้นจากการเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในหลากหลายมิติเพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและสร้างการมีส่วนร่วมของแฟนกีฬาที่มีต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงได้สำรวจคิดเห็นเรื่อง “ปรากฏการณ์ฮานอยเกมส์ 2021 กับมุมมองของแฟนกีฬาไทย” ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 23-26 พ.ค.65 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,193 คน

สรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยภาพรวมพบว่า ปรากฏการณ์ “ฮานอยเกมส์ 202” กับพัฒนาการของวงการกีฬาไทย กลุ่มอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 37.44 เห็นว่าดีขึ้นรองลงมาร้อยละ 24.66 คงเดิม ร้อยละ 20.18 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 17.72 ควรมีการปรับปรุงแก้ไข

ปรากฏการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับแฟนกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.01 นักกีฬาคว้าเหรียญทองและร่วมสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รองลงมาร้อยละ 21.95 การแจ้งเกิดของนักกีฬาดาวรุ่ง ร้อยละ 15.68 ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการเชียร์ ร้อยละ 13.47 นักกีฬาแสดงออกซึ่งศักยภาพและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ร้อยละ 11.03 การสนับสนุนในการเตรียมทีมนักกีฬา ร้อยละ 6.88 พัฒนาการและการเชียร์ของเจ้าภาพ และอื่นๆ ร้อยละ 2.98

ปรากฏการณ์ที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนกีฬาไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.11 ทีมฟุตบอลชาย พลาดเหรียญทอง รองลงมาร้อยละ18.05 นักกีฬาไม่สามารถคว้าเหรียญได้ตามเป้า ร้อยละ14.08 ระยะเวลาในการเตรียมทีมของบางชนิดกีฬาที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 13.96 การตัดสินที่ไม่เป็นธรรม ร้อยละ 11.63 การจัดกีฬาพื้นบ้านเพื่อหวังเหรียญรางวัลของเจ้าภาพ และอื่นๆ ร้อยละ 3.17

ชนิดกีฬาที่สร้างผลงานเข้าตาแฟนกีฬาไทย อันดับ 1 ร้อยละ 68.22 กรีฑา อันดับ 2 ร้อยละ 54.10 วอลเลย์บอลหญิง อันดับ 3 ร้อยละ 53.02 แบดมินตัน อันดับ 4 ร้อยละ 49.88 ฟุตซอล อันดับ 5 ร้อยละ 45.31 ยกน้ำหนัก อันดับ 6 ร้อยละ 42.91 เทเบิลเทนนิส อันดับ 7 ร้อยละ 40.07 ว่ายน้ำ อันดับ 8 ร้อยละ 39.59 เทนนิส อันดับ 9 ร้อยละ 37.11 มวยสากล อันดับ 10 ร้อยละ 36.20 จักรยาน/เทควันโด

ความคาดหวังจากภาครัฐกับการต่อยอดสู่มหกรรมซีเกมส์ 2023 ส่วนใหญ่ร้อยละ28.07 ส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ รองลงมาร้อยละ24.88 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 20.06 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับกีฬาสากลอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ13.37 ส่งเสริมและสนับสนุนนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 9.85 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชน และอื่นๆ ร้อยละ 3.77

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจากปรากฏการณ์ “ฮานอยเกมส์ 2021” นั้น กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนมุมมองให้เห็นในมิติที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทยที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลงานและพัฒนาการของชนิดกีฬาต่างๆ ที่เข้าแสดงศักยภาพให้เห็นจนตาแฟนๆ ขณะเดียวกันโพลดังกล่าว ยังส่งการบ้านผ่านการคาดหวังไปยังภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับส่งเสริมเพื่อต่อยอดไปซีเกมส์ในครั้งต่อไป และเชื่อว่าหากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะเป็นหัวเรือใหญ่ที่มีบทบาทหน้าที่ในการเตรียมการนักกีฬาได้นำข้อมูลบางส่วนไปประยุกต์ใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาไทยไม่มากก็น้อย