อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurial Ecosystem Development)


โดยสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทีม Biopot ประกอบด้วย น.ส.สุธีรา ถิตย์บุญครอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ น.ส.ณัฐชา สุริวงค์ คณะวิทยาศาสตร์ และ น.ส.ศรวดี ท่าเกษม คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ทำ “กระถางต้นไม้รักษ์โลก” แบรนด์ Biopot กระถางต้นไม้ที่เลือกใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่กากกาแฟ เปลือกมันสำปะหลัง เปลือกทุเรียน และแกลบ ผสมพลาสติกย่อยสลายได้และปุ๋ยเคมีชนิดสามารถควบคุมการปลดปล่อยได้ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการคือ ให้คำปรึกษาเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้มีความพร้อมในการออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบกระถางรักษ์โลก ภายใต้ชื่อ Biopot รวมทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาด้านการตลาด การเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การตั้งราคาขาย และการพัฒนาแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และการออกแบบเครื่องหมายการค้าและบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ ทั้ง ขายแบบกระถางเดี่ยว พร้อมสายคาด ขายแบบกระถางแพ็ค แพ็คละ 3 ใบ พร้อมสายคาด และขายแบบแพ็คเกจกระถางชุดพรีเมี่ยม พร้อมเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์การปลูก


น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้รับความรู้ในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ กระถางต้นไม้รักษ์โลก ภายใต้ชื่อ Biopot ที่สำคัญ มีการต่อยอดแนวคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการและพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเป็นทีมนิสิตตัวแทนอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก ม.บูรพา ภายใต้โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market: R2M) ปีงบประมาณ 2564 เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนานิสิตเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ Startup Thailand League ปีงบประมาณ 2564 ม.บูรพา ดำเนินการยกระดับและเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อภายใต้โครงการนักธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ New Gen Technopreneur: แผนงานยกระดับและเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ (T2: Entrepreneurial Scale-up platform) ปีงบประมาณ 2565 และ ดำเนินการเข้าร่วมการประกวด ในโครงการสร้างผู้ประกอบการ Micropreneur (GSB Micropreneur Academy) เพื่อค้นหา Smart Start Idea by GSB Startup ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้น


“การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในส่วนภูมิภาค และ ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมจากการการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยการเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กากกาแฟ เปลือกมันสำปะหลัง เปลือกทุเรียน และแกลบ เป็นต้น ผสมพลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อพัฒนาเป็นกระถางรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดสารตกค้าง ช่วยลดขยะพลาสติกอันเกิดจากกระถางต้นไม้พลาสติก และลดขยะจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกด้วย รวมทั้งการจ้างงานและที่สำคัญ เกิดการกระจายรายได้ภายใน 5 ปี จากการทดลองทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และได้เริ่มต้นดำเนินธุรกิจจริง โดยจ่ายเงินเดือนจ้างลูกจ้าง และค่าแรงให้กับตนเอง 10,000 บาท x 3 คน x 12 เดือน = 360,000 บาท / ปี” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว


นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก ม.บูรพา ยังดำเนินแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area-based Innovation for Community) “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดปลอดภัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดอย่างยั่งยืน” ที่วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนฤทธิ์ศิริ 129 หมู่ 2 ต.หนองแวง อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ผ่านระบบอัตโนมัติในโรงเรือนเพาะเห็ดแบบ Smart Farming แนวทางการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากเห็ด การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ มาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมให้นักวิจัยปฏิบัติงานร่วมกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม โดยกลุ่มเป้าหมายคือสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนฤทธิ์ศิริ


“โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดนวัตกรชุมชนที่ต่อยอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ อย่างน้อย 10 คน ตลอดจนสามารถขยายผลเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากเห็ดแบบครบวงจรให้กับผู้ที่สนใจต่อไป โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมูลค่ารวม 1.5 ล้านบาทต่อปีจากกำลังการผลิตของผู้ประกอบการ” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว