นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนพื้นที่ทำกินทับซ้อนระหว่างป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี และเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ที่ทำการสภาองค์กรชุมชนตำบลอ่าวน้อย หมู่ที่ 14 บ้านทุ่งยาว ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกันนี้ ยังได้รับฟังและพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนปลูกต้นมะริดไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย

 
โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ได้สั่งการให้กรมป่าไม้เร่งดำเนินการในเรื่องการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีบางส่วน เฉพาะพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ยึดหลัก 3 เรื่อง คือ หลักวิทยาศาสตร์ ในการดูร่องรอยพื้นที่ตามแนวเขตที่ดิน หลักนิติศาสตร์ ให้ตรงตามหลักข้อกฎหมาย และหลักรัฐศาสตร์ ในการติดตามบริหารพื้นที่แนวเขต และเร่งปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ 1/2563 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เพื่อดำเนินการประกาศป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีใหม่


ทั้งนี้ ปัญหากรณีเรื่องร้องเรียนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีทับซ้อนกับนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ราษฎรที่อยู่ภายในนิคมไม่สามารถออกโฉนดที่ดิน และดำเนินการตามพระราชบัญญัติ จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยมีเนื้อที่ทับซ้อน ประมาณ 56,605-1-33 ไร่ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และมีการดำเนินการแก้ไขปัญหามามากกว่า 50 ปี โดยที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ. 2511) กำหนดป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี เพื่อแก้ไขแผนที่ท้ายกฎกระทรวงด้วยวิธีการถ่ายทอดแนวเขตที่ให้กันพื้นที่เขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในส่วนที่ทับซ้อนกัน ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี และได้เห็นชอบแผนที่ที่ได้แก้ไข แต่ให้เพิ่มเติมในส่วนที่มีสภาพป่าแปลงเล็กๆ ในเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ที่มีลักษณะเป็นป่าชุมชน และให้นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และราษฎรในพื้นที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแลไม่ให้มีการบุกรุกทำลายและกันพื้นที่สภาพป่ากลับคืนกรมป่าไม้ เพื่อดูแล รักษาและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป