อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน-การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจากแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ 3 สูตร ได้แก่ ชากลีบบัวหลวงสูตร 100% ชากลีบบัวหลวงผสมดอกคำใต้ และ ชากลีบบัวหลวงผสมข้าวกล้องคั่ว

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาคฯ โดยอุทยานฯ เข้าไปสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจตามแผนงาน ร่วมกับนักวิจัยภายใต้คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นำเทคโนโลยีการทำแห้งตัวอย่างแบบแช่เยือกแข็ง วัตถุดิบ คือ ดอกคำใต้ (กระถินเทศ) ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการสูญเสียสีและกลิ่นได้ เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มบัวหลวงที่มีส่วนประกอบหลักคือ “กลีบบัวหลวง” จะกลมกลืนกันเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีกลิ่นอ่อนๆ ของดอกคำใต้

“ที่สำคัญพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับถึงการปลูกข้าวหอมมะลิ จนได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดข้าวหอมมะลิระดับจังหวัด อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวกล้องงอก (ข้าวฮาง) อินทรีย์ ในพื้นที่ ต.หนองหล่ม จึงมีการนำข้าวกล้องงอกอินทรีย์มาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบัวอีกชนิดหนึ่ง และตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พัฒนาร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจฯ และ อบต.ดอกคำใต้ ว่า “เครื่องดื่มบัวคำใต้ผงพร้อมชง” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา มีราชกิจจานุเบกษาประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 426) พ.ศ. 2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง ชาจากพืช ดังนั้น จึงอาจเปลี่ยนชนิดของผลิตภัณฑ์ จากเดิม “เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” เป็น“ชากลีบบัวหลวง” ซึ่งจะตรงกับประกาศ สธ. ฉบับดังกล่าว เพราะดอกบัวเป็นหนึ่งในพืชที่เข้าเกณฑ์ชาจากพืชผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำเทคโนโลยีไปใช้จะชัดเจนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการร่วมมือกันของทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้เกิดรายได้ และเสริมศักยภาพการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจฯ บนพื้นฐานของเทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยพะเยา

“ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมได้รับหลังจากเข้าร่วมแผนงาน ในเชิงคุณภาพ มีการใช้ประโยชน์จากพืชอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จ.พะเยา กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้แนวทางในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้ผลิต ภัณฑ์ใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียน OTOP ผลิตภัณฑ์ได้รับการจดแจ้งอนุสิทธิบัตร 1 ฉบับ และมีการตั้งราคาขายต่อกล่องที่บรรจุ 12 ซอง ไว้ที่ราคา 300 บาท ส่วนราคาจำหน่ายส่งต่อกล่องอยู่ที่ 250 บาท” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวและว่า

ขณะที่ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ มีการจ้างงานคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการผลิตเครื่องดื่มจากกลีบบัวปัจจุบัน เครื่องดื่มจากบัวที่ทางวิสาหกิจฯ ผลิตได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากการสั่งผ่านช่องทางขายทั้งทางหน้าร้าน ติดต่อทางโทรศัพท์ และออนไลน์ที่สำคัญ ยังมีผลในด้านการอนุรักษ์ ชาวบ้าน หันมาปลูกและอนุรักษ์ต้นดอกคำใต้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงอาจเกิดการท่องเที่ยวเพื่อชมดอกคำใต้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเข้มแข็ง

“สำหรับผลกระทบด้านสังคม เกิดการแชร์วัตถุดิบที่ชุมชนมีในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ชา นอกจากนี้ ยังเกิดการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและกลุ่มวิสาหกิจฯ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหา วิทยาลัยพะเยาและคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีช่องทางในการให้บริการทางด้านวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกรณีที่ทางชุมชนต้องการต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์” น.ส.ทิพวัลย์ ระบุ