“ฟักทองญี่ปุ่น” เป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และที่สำคัญในช่วงนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากฟักทองญี่ปุ่น มีรสชาติที่อร่อย มัน เนื้อนุ่มกว่าฟักทองชนิดอื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหาซื้อๆมารับประทานกันจำนวนมาก โดยราคาขณะนี้อยู่ที่ 30-50 บาท ต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ทำให้เกษตรกรรายหลายหันปลูกฟักทองญี่ปุ่นหลังการเก็บเกี่ยวข้าว โดยมองว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีความต้องการของตลาดที่สูง อีกทั้งยังดูแลง่าย ช่วยสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้งได้ดี

นางปิยธิดา แก้วดี เกษตรกรอำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม ที่หันปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งสร้างรายได้เสริม ด้วยการปลูกฟักทองญี่ปุ่น ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ ประมาณ 3,500 ต้น และมีประสบการณ์ในการปลูกฟักทองญี่ปุ่นมากกว่า 5 ปี เล่าว่า ตนเองตัดสินใจที่จะปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในทุกๆปี เช่น ฟักทองญี่ปุ่น พริก แตงกวา และแตงโม เพราะมองว่าพืชเหล่านี้เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ตลาดมีความต้องการและมีราคาที่สูง อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างรายเสริมให้กับครอบครัว สำหรับการปลูกฟักทองญี่ปุ่น ตนเองเลือก ฟักทองญี่ปุ่นพันธุ์ F1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนมากนัก และผู้บริโภคก็ให้ความนิยมเป็นอย่างมา

ซึ่งการปลูกฟักทองญี่ปุ่นตนเองได้มีการนำติดตั้งระบบน้ำหยด เพื่อให้น้ำอย่างเพียงพอทำให้ผลของฟักทองญี่ปุ่นมีขนาดที่โตสมบูรณ์ สำหรับต้นทุนการผลิตมในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 17,000 บาท และสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในกิโลกรัมละ 30-50 บาท อยู่ที่ขนาดและคุณภาพของผล ซึ่งทำให้ตนและครอบครัวมีรายได้ ประมาณ 80,000-90,000 บาท/ไร่ สำหรับการตลาดจะมีพ่อค้าคนกลางที่เดินทางมาจากจังหวัดสกลนครที่เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่สวนเป็นประจำในทุกปี ทำให้ไม่ประสบปัญหาด้านราคาและการตลาด จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรที่กำลังมองหาพืชใช้น้ำน้อยที่น่าสนใจจะปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ได้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ช่วยสร้างรายได้เสริม ทดแทนการปลูกข้าวนาปรังหรือพืชชนิดอื่นที่มีความเสี่ยงด้านราคาและผลกระทบจากปริมาณน้ำที่อาจจะไม่เพียงพอในเพาะปลูกพืช

น.ส.กัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ดำเนินการส่งเสริมและเชิญชวนเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีราคาที่ดี เพื่อที่จะมีรายได้และมีอาชีพเสริมให้กับตนเองและครอบครัว โดยเน้นให้เกษตรกรปลูกผักแบบปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้สารชีวภัณฑ์และน้ำหมักชีวภาพแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการรักษาสุขภาพของตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคด้วย สำหรับพืชที่เหมาะสมต่อการปลูกในหน้าแล้งควรเป็นพืชที่มีอายุสั้น การปลูกพืชผักอายุสั้นใช้เงินลงทุนต่อรุ่นต่ำ แต่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ 2-3 รอบต่อรุ่น

ทั้งนี้ การปลูกพืชระยะสั้นไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากเตรียมเมล็ดพันธุ์ ปรับดินเตรียมแปลงปลูก และเพื่อให้ประหยัดน้ำเกษตรกรควรลงทุนทำระบบน้ำหยดเพื่อให้น้ำถูกส่งผ่านทางท่อ และปล่อยน้ำออกทางหัวหยดน้ำ ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยดซึมลงมาที่บริเวณรากของต้นพืชอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ ช่วยให้ดินมีความชื้นคงที่ พืชได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอทั้งแปลง ช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน บำรุงรักษาระบบง่าย แถมควบคุมวัชพืชได้ง่าย ส่วนข้อควรระวังในการปลูกพืชหน้าแล้ง นอกจากเรื่องน้ำแล้ว ยังจะต้องดูความต้องการของตลาด และดูความเหมาะสมว่าสภาพแวดล้อมที่ปลูกเหมาะต่อพืชที่ต้องการจะปลูกหรือไม่ ถ้านำพืชชอบอากาศหนาวมาปลูกในพื้นที่ร้อนก็จะไม่ได้ผลผลิต

นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่มีเกษตรกรรายหลายเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดและให้ความสนใจในการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้เสริมทดแทนการทำนาปรัง และปล่อยพื้นที่การเกษตรว่างเปล่าไม่มีการใช้ประโยชน์ เป็นการทำการเกษตรในยุคใหม่ที่เน้น “การผลิตในพื้นที่ แต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า” และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาปรับใช้ในการทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น