เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ยังคงให้บริการวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นการฉีดโดยหลายหน่วยงาน อาทิ จุดฉีดสถานีกลางบางซื่อโดยกระทรวงสาธารณสุข จุดฉีดศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงโดยกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งได้ร่วมกันจัดหน่วยฉีดให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมจำนวนสะสม 5,668,720 โดส แบ่งผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้ว จำนวน 1,025,493 ราย (2,050,986 โดส) และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 3,617,734 ราย(ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค.64)
ในส่วนของกทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า( Astrazeneca) รวมจำนวนทั้งสิ้น 680,000 โดส ได้ฉีดให้แก่ประชาชนผ่านโครงการไทยร่วมใจ ณ จุดฉีดวัคซีนนอกรพ. โดยความร่วมมือระหว่างกทม.และหอการค้าไทย ทั้ง 25 แห่ง ในเดือนมิ.ย.64 จำนวน 200,000 โดส และในเดือนก.ค.64 ได้ฉีดให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจ และได้รับแจ้งให้เลื่อนคิว รวมจำนวน 480,000 โดส ซึ่งคาดว่าจะให้บริการวัคซีนได้ครบภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่มีคิวนัดกับโครงการไทยร่วมใจตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 เป็นต้นไป จะแจ้งคิวฉีดวัคซีนใหม่ให้ทราบทันที เมื่อกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม
ส่วนสถานการณ์การการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) สำนักการแพทย์ กทม. (วันที่ 28 ก.ค.64 เวลา 23.59 น.) พื้นที่กทม.มีจำนวนผู้ป่วยซึ่งยังคงรักษาตัว ณ รพ.ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 26,969 ราย โดยเป็นผู้ป่วยโควิดซึ่งยังคงพักรักษาตัว ณ รพ.สังกัดกทม. รวมทั้งรพ.สนามและฮอสพิเทล ในความดูแลของสำนักการแพทย์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,587 ราย โดย 146 ราย มีอาการรุนแรง
สำหรับจำนวนเตียงรพ.สังกัดกทม. รวมทั้งรพ.สนามและฮอสพิเทล ในความดูแลของสำนักการแพทย์ จำนวนทั้งสิ้น 3,632 เตียง ใช้ไปแล้ว 3,597 เตียง คิดเป็นร้อยละ 98.76 ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 26 ศูนย์ จำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย ได้ 3,499 เตียง ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 2,439 เตียง ทั้งนี้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตอยู่ระหว่างการนำส่งผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลและศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อทุกแห่งให้ครบเต็มจำนวน
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการผู้ป่วยในศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ สำนักการแพทย์ กทม. ได้ดำเนินการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวกจากชุดตรวจ ATK แยกกักตัวกับกลุ่มผู้ป่วยที่ทำการตรวจด้วย RT-PCR โดยจะทำการตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงหากผลบวกจากชุดตรวจ ATK เป็นผลบวกที่คลาดเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยสูงสุด.
ทั้งนี้ สำนักอนามัย กทม. ได้ สรุปจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค.64) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,364 ราย โดยเขตที่มีผู้ได้รับการแยกกักตัวที่บ้าน สูงสุด ตามลำดับ คือ เขตธนบุรี (208 ราย) บางซื่อและบางกอกใหญ่ (เขตละ 130 ราย) ทุ่งครุ (120 ราย) และสายไหม (99 ราย)