เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างรอเตียงในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กทม.จึงจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation : HI) โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายจัดตั้งอย่างน้อย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย ให้ครบ 50 สำนักงานเขตภายในสิ้นเดือน ก.ค.64 นั้น
ขณะนี้ กทม.จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว จำนวน 59 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 50 เขต เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 27 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้จำนวนทั้งสิ้น 7,368 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค. 64) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษารองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น กทม.จึงได้ปรับศูนย์พักคอยเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 1. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร เขตจตุจักร 120 เตียง 2. อาคารวิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการเจ้าพระยา เขตราชเทวี 170 เตียง 3. วัดสุทธิวราราม เขตสาทร 106 เตียง 4. ร้านจงกั๋วเหยียน เขตลาดกระบัง 200 เตียง 5. ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 200 เตียง 6. วัดศรีสุดาราม (อาคารศาลาวิจิตร รัตนศิริ วิไล) เขตบางกอกน้อย 90 เตียง และ 7. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) 150 เตียง เขตบางแค รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,036 เตียง
และในวันที่ 30 ก.ค. กทม. โดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย และรพ.ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ ร่วมกับวัดศรีสุดารามวรวิหาร กำหนดให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแก่พระ สัปเหร่อ และมัคนายก ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ ของวัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ตลอดจนการจัดการฌาปนกิจศพ เริ่ม โดยนำร่องในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 15 เขต รวมทั้งสิ้น 221 วัด
นอกจากนี้ กทม. ได้นำ ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามาใช้ในการตรวจค้นหาเชิงรุก เพื่อให้ทราบผลตรวจที่รวดเร็ว เนื่องจากการตรวจ RT-PCR ต้องรอผลตรวจจากแล็บ ซึ่งใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ผลยืนยันเพื่อเข้ารับการรักษา หากพบผู้ป่วยได้รวดเร็วจะทำให้เข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงจะได้แยกกักตัวเองไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น โดยเข้าระบบแยกกักตัวอยู่บ้านหรือเข้าพักที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ
ในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่บ้านนั้น ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น การส่งอาหารโดยสมาคมภัตคารไทย การส่งยาโดยตำรวจ สน.ท้องที่ การประสานงานและติดตามอาการโดยอาสาสมัครสาธารณสุขและศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการแยกกักตัวรักษาที่บ้านแบบ HI เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว โดยประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน หรือถ้าอยู่บ้านไม่ได้ก็ให้ชุมชนช่วยกันดูแล