น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 64 เหลือ 1.3% ซึ่งลดลงจากเมื่อเดือน เม.ย.64 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ แต่มีการส่งออกเป็นปัจจัยบวก รวมถึงมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายจากภาครัฐ ส่วนในปี 65 คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 4-5% เนื่องจากมองว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาทำงาน

สำหรับปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากการระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่แล้ว ยังมีปัจจัยจากการท่องเที่ยว ซึ่งคาดทั้งปีนี้จะมีชาวต่างชาติเข้ามา 3 แสนคน ลดลงถึง 95.5% จากปี 63 ที่ 6 ล้านคน และรายได้การท่องเที่ยวจะเหลือ 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อหัวที่ 72,000 บาท ส่วนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 12,000 คน มีการจองห้องพักช่วง ก.ค.-ก.ย.64 แล้ว 2.8 แสนคืน

“การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีข้อจำกัด เพราะบางประเทศยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางได้เอง เช่น จีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย แต่จากแผนการจัดหาวัคซีนของไทยที่คืบหน้า น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวในปี 65 ให้มีนักท่องเที่ยวได้ 12 ล้านคน นอกจากนี้มีปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยสิ้นปี 64 จะเฉลี่ย 31.48 บาทต่อดอลลาร์  อ่อนค่าลงจากปี 63 ที่ 0.6%  รวมถึงราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ จะเฉลี่ย 66.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 57.9%”

ส่วนปัจจัยบวกมาจากการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.5% ส่งผลให้ทั้งปี 64 จะขยายตัว 16.6% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 11% รวมถึงมาตรการของภาครัฐ อาทิ  คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และเงินเยียวยาจากพ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมถึงหากต้องการเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม คลังก็พร้อมดำเนินการ ทั้งจากโครงการที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่เสนอเข้ามา เช่น ช้อปดีมีคืน ที่จะทำตอนสถานการณ์ปกติ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว 4.2%  การลงทุนภาครัฐขยายตัว 9.5%  ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนโต 1% และการลงทุนภาคเอกชนโต 4.1%