เมื่อวันที่ 9 พ.ค. น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) แถลงข่าวโดยกล่าวถึงปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ว่ามีอยู่ 3 ระดับ ระดับต้น น้ำระดับกลางน้ำ และระดับปลายน้ำ โดย “ระดับต้นน้ำ” ต้องพิจารณาถึงการลดปริมาณขยะและการแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพราะหากมองให้ลึกถึงปัญหาในระดับต้นน้ำจะพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำเข้าขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ที่สำคัญการไม่แยกขยะโดยนำขยะเปียก เศษอาหาร มารวมกับขยะแห้ง ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดมลพิษมากกว่าค่ามาตรฐาน เช่น ในพื้นที่โรงขยะไฟฟ้าที่อ่อนนุช เมื่อลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าการนำเข้าขยะพลาสติกพุ่งขึ้นจากการที่จีนยกเลิกการนำเข้าขยะ ทำให้ ราคาขยะพลาสติกลดลง ประเทศไทยจึงมีการนำเข้าขยะพลาสติกมากขึ้น จนสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศอาจกลายเป็นถังขยะของโลก เพราะทุกการนำเข้าคือการเพิ่มขยะคงค้างในประเทศ

น.ต.ศิธา กล่าวว่า “ในระดับกลางน้ำ” พบว่าราคาของการจัดเก็บขยะไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ใช้จริง อีกทั้งความถี่ในการจัดเก็บขยะไม่มากพอ ทำให้เกิดปัญหาความไม่พอเพียงของบุคลากรและรถเก็บขยะมูลฝอยที่ไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงชุมชนทุกบริเวณ โดยเฉพาะกำลังพลและสวัสดิการที่ให้แก่พนักงานเก็บขยะ ยังไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงความทุ่มเท และความสำคัญของภารกิจหน้าที่ หากดูตัวเลขในปี 64 พบว่ากรุงเทพฯมีรถจัดเก็บขยะเพียง 2,177 คัน และตำแหน่งพนักงานทั่วไปหรือเก็บขนมูลฝอยมีอัตราค่าจ้างเพียงเดือนละ 8 พันกว่าบาทเท่านั้น ส่วน “ระดับปลายน้ำ” กรุงเทพฯ ยังไม่มีจุดจัดการขยะในระดับท้องถิ่น ขาดการประสานงานกับภาคเอกชนที่ต้องการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า ที่ผ่านมาพบว่าการเพิ่มมูลค่าของขยะเป็นไปอย่างจำกัด เช่น การนำไปรีไซเคิลทำพลังงานไฟฟ้าหรือปุ๋ยหมัก

“ถึงเวลาที่ศิธาจะคิดต่างเรื่องขยะ เพื่อการจัดการ กทม.ให้เป็นเมืองสะอาด และเป็นบ้านแห่งความสุข เริ่มจากการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณและการดูแลสวัสดิการให้แก่พนักงานเก็บขยะ ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี สมกับความเสียสละทุ่มเท เพื่อดูแลพี่น้องชาว กทม. เช่น สวัสดิการในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มกำลังพลและจำนวนรถจัดเก็บขยะทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อการเข้าถึงถนนย่อยและชุมชนทุกประเภท”

น.ต.ศิธา กล่าวด้วยว่านอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจให้กับสถานประกอบการขนาดใหญ่ต้องคัดแยกขยะจากต้นทาง เช่น การคงค่าเก็บขยะตามอัตราเดิมหากสถานประกอบการจัดการแยกขยะได้ดี หรือการลดค่าเก็บขยะถ้าสามารถลดปริมาณขยะได้ตามเป้าของกรุงเทพฯ หรือให้ระยะเวลาผ่อนผันในการจัดการขยะเป็นระยะเวลา 1 ปี หากสถานประกอบการไม่พร้อมกับการจัดการแยกขยะตามมาตรฐาน สามารถจ่ายค่าจัดเก็บขยะเพิ่มเติมตามปริมาณขยะในอัตราก้าวหน้าเพื่อให้ กทม.จัดการในส่วนนี้แทน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจ แยกขยะได้ดีมีรางวัล โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ลดปริมาณขยะได้ จะได้ส่วนลดต่างๆ เช่น ได้รับการยกเว้นค่าจัดเก็บขยะ ได้รับแบงค์กอก Token เพื่อลดค่าครองชีพและนำไปซื้อของช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น.