เมื่อวันที่ 29 ก.ค. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์ความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า เส้นบางๆ ระหว่าง ปราบ Fake news กับ การปิดหูปิดตาประชาชน “การสื่อสาร” คือสิ่งที่รัฐต้องแก้ก่อน ปรากฏการณ์ดารา คนมีชื่อเสียงออกมา call out จนตามมาถึงการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงจัดตั้งหน่วยงานให้เร่งติดตามและเอาผิดคนที่ปล่อยเฟคนิวส์ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่องค์กรสื่อ บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือกระทั่งประชาชนธรรมดาหากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้เลยทันที
ในขณะที่เมื่อวานนี้ 6 สมาคมสื่อมวลชนได้ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ว่าการกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการปิดปากสื่อมวลชน ซึ่งไม่ต่างจากการปิดหูปิดตาประชาชน เป็น “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพ” ของพลเมืองไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้สร้างความไม่สบายใจในฐานะที่เดียร์เคยทำงานในองค์กรสื่อ การแสดงจุดยืนของรัฐบาลที่มองการเรียกร้องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นศัตรู ในขณะที่รัฐบาลคือตัวแทนประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ และหน่วยงานราชการก็ควรเป็นที่พึ่งให้ประชาชนในการบริการและคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ที่สุด โดยเฉพาะในเวลาที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤติเช่นนี้
จริงอยู่ว่าการบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้กระทำผิดโดยเฉพาะผู้ที่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ในยามที่ประชาชนทั่วทุกหย่อมหญ้ากำลังได้รับความเดือดร้อน คนกำลังล้มตายเป็นใบไม้ร่วง นั่นยังไม่นับรวมถึงคนที่เหมือนตายทั้งเป็นเพราะไม่มีเงินจะมาซื้อข้าวให้คลายจากความหิว ความรู้สึกเหล่านี้ประชาชนควรจะได้รับเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก
ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายเฟคนิวส์ที่การตัดสินอยู่บนดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ การแสดงความรู้สึกในทางลบ เช่น “วัคซีนไร้ประสิทธิภาพ” หรือ “รอวัคซีนนานแล้ว…รัฐบาลไม่ทำอะไร” หรือกระทั่งการวิจารณ์การทำงานก็หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งของผู้มีอำนาจที่จะต้องทำด้วยความรอบคอบอย่างยิ่งต่อประชาชน เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องไม่ลืมที่จะทำงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์
นั่นคือการปรับปรุงกระบวนการสื่อสารของรัฐที่ต้องสื่อสารข้อมูลสำคัญไปให้ถึงประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการดูแลปกป้องตนเอง การสื่อสารที่ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนจนสุดท้ายต้องพยายามวิ่งหาข้อมูลด้วยตนเอง เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเกิดความสับสน ไม่แน่ใจในข้อมูล และที่สำคัญเมื่อเวลาต้องการหาข้อมูลแต่ไม่รู้ว่าจะเช็กข้อมูลถูกต้องได้ที่ไหน ก็จะเป็นโอกาสของผู้ที่ไม่หวังดีในการสร้างเฟคนิวส์
การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้นสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่อาจเป็นไปอย่างที่หวัง แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ “การที่ผู้บริหารประเทศไม่ได้ยินเสียงที่แท้จริงจากประชาชน”
ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีการโพสต์ข้อความดังกล่าวออกไป ได้มีชาวโลกออนไลน์เข้ามาแสดงความเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีสมัยนายทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เข้ามาแสดงความเห็นด้วยเช่นกัน
ขอบคุณเพจ เดียร์ วทันยา