นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทค ให้ความสำคัญในการร่างและพัฒนาหลักปฏิบัติ และมาตรฐาน การกำกับดูแลปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่ ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า โซเชียลมีเดียมีข้อความที่สร้างความเกลียดชัง 39 ข้อความต่อนาที และพบการเกิดขึ้นของปัญหาในสถานศึกษามากที่สุด และเพื่อนมักเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้งรังแก ทางดีแทค ภายใต้โครงการ  dtac Safe Internet จึงได้เดินหน้าเพื่อลดปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7
 
“ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้รณรงค์เรื่องไซเบอร์บูลลี่ มาตั้งแต่ ปี 59 ซึ่งขณะนั้นคนไทย มีความเข้าใจเรื่องไซเบอร์บูลลี่ไม่ถึง 10% มาถึงปัจจุบันได้สร้างความรับรู้และตระหนักถึงเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น แต่โครงการปีนี้ จะเน้นนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยให้เข้าไปใปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาเรื่องนี้”

นางอรอุมา กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้จะเน้นไปที่กลุ่มนักเรียน หรือกลุ่ม เจน ซี (GEN Z) หรือกลุ่มคนอายุ 13-25 ปี ให้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการนำเสนอความคิด หรือไอเดียในการแก้ไขปัญหา ด้วยแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เพื่อระดมข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติร่วมเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้พัฒนาขึ้น คือ www.safeinternetlab.com/brave ซึ่งได้การออกแบบในรูปแบบ ร่วมนำเสนอความคิด หรือ JAM Ideation ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่  25 มิ.ย. นี้

โดยเปิดรับความคิดใน 3 ประเด็นที่วัยรุ่นไทยเผชิญอยู่มากที่สุดคือ การเหยียดรูปร่างหน้าตา (Body Shaming) การเหมารวมและอคติทางเพศ (Gender Inequality) และ การกล่าวล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ซึ่งภายหลังการระดมความคิดเห็น ดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยจะร่วมสรุปประเด็นและแนวทางยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดเป็นกฎหมายในลำดับถัดไป เช่นเดียวกับนานาชาติ เช่น อังกฤษ​ สวีเดน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น