ที่ห้องประชุมโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่างคลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กรมชลประทาน จัดขึ้น โดยมี นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ และนายประวิน จ่าภา ผู้อำนวยการส่วนออกแบบระบบชลประทาน เป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ มีหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม รวมกว่า 50 คน

นายประทีป การมิตรี กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และปริมาณน้ำหลากที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองต่าง ๆ ในปัจจุบันน้อยลง และมีความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง คลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและการระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับผลกระทบลดลง นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาให้กับพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่างคลองเจ้าเจ็ด-อ่าวไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในแผนงานบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่างของกรมชลประทานในแผนงานที่ 4 เพื่อระบายน้ำในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ดออกสู่อ่าวไทยให้ได้มากที่สุด สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เพิ่มจาก 52 ลบ.ม./วินาที เป็น 130 ลบ.ม./วินาที ช่วยลดปริมาณระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนได้ 50% และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บหรือระบายน้ำของแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย อีกทั้งเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งการบริหารจัดการน้ำหลากที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนถึงชายทะเล หรือหากมีปริมาณน้ำหลากบริเวณด้านเหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ที่จำเป็นต้องระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยระบายน้ำทั้งในแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินกว่าศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ซึ่งหลังจากการประชุมในวันนี้จะนำผลจากการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าและสรุปการออกแบบรายละเอียดโครงการในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการร่วมกัน.