นายโสภณ พันธุ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า จากปัญหาที่ประสบด้านสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง การขาดแรงงานคนด้านค่าบริการ จากใช้เรือยนต์นำเที่ยว ทางกลุ่มฯ จึงเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติพลังแสงอาทิตย์ โดยเตรียมเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นำเที่ยวแม่น้ำสุพรรณบุรี และยังมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การใช้พลังงานธรรมชาติ เป็นชุมชนต้นแบบนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลัก SDGs ได้ 9 ด้านจาก 17 ด้านสามมิติ คือพัฒนาคน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความมั่งคง ส่วนเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นำเที่ยว ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง

ที่ผ่านมาชุมชนบ้านแหลม ทำการท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่อำเภอบางปลาม้าและอำเภอใกล้เคียงโดยใช้เรือเครื่องยนต์มาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดมลภาวะต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าด้านเสียง ด้านภาวะทางอากาศและมลพิษทางน้ำ ประกอบกับปัจจุบันราคาน้ำมันเชื่อเพลิงก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่ม หรือแม้แต่เรือและหรือทรัพยากรคนก็มีจำนวนจำกัด ผู้มาเยือนบ่นรำคราญเสียงเครื่องยนต์พร้อมราคา ที่สำคัญชุมชนเราต้องการเป็นชุมชนต้นแบบชุมชนการท่องเที่ยว BCG เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยังยืนตามหลัก SDGs จึงเป็นที่มาของการใช้เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นำเที่ยว

จากการเปลี่ยนมาใช้เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้แม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นแม่น้ำใสสะอาด ร่วมสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และร่วมสร้างจิตสำนึกความตระหนักในการอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกันทั้งนักท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบ ที่นำเทคโนโลยีและการลดการปล่อยของเสียทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นและยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ให้กับชุมชนอีกด้วย

นายโสภณ กล่าวต่อว่า นักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสวิถีชุมชนที่ ต.บ้านแหลม นอกจากจะได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น และลิ้มลองอาหารอร่อยๆ แล้ว การกินข้าวที่นี่ยังไม่ต้องล้างจาน นั่นเป็นเพราะ ที่นี้มีการนำตบชวาซึ่งสร้างปัญหาให้กับแม่น้ำสุพรรณ ทั้งกีดขวางการสัญจรและทำให้แม่น้ำเน่าเสีย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จานชามใส่อาหารแห้ง เริ่มจากใช้กันเองในชุมชนก่อน และขยายไปถึงนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนนับหมื่นคนต่อปี และผลิตเพื่อจำหน่าย เป็นการกำจัดวัชพืชให้หมดไป พร้อมๆ กับสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน และสิ่งที่พิเศษกว่านั้น คือ การต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยนำเอาพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น มะกรูด ตะไคร้ ข่า ขิง มาผสมกลายเป็นถ้วยจานชามพืชสมุนไพร ซึ่งจะให้ทั้งลวดลายและกลิ่นหอมของสมุนไพรเมื่อโดนความร้อนจากอาหาร โดยรองด้วยใบตองก่อนใส่อาหาร และหลังจากใช้แล้วถ้วยชามเหล่านี้จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้กับต้นไม้ต่อไป

“ในอนาคตชุมชนบ้านแหลมมีเป้าหมายจะผลิตถ้วยชามจากผักตบชวาที่มีขนาดหลากหลาย และใส่อาหารประเภทน้ำได้เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงขยายช่องทางจำหน่าย และหวังให้กลายเป็นภาชนะที่ถูกใช้แทนที่กล่องโฟมหรือพลาสติก เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม”