สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ว่า องค์การอัปสราแห่งชาติของกัมพูชา เปิดเผยว่า คณะนักโบราณคดีได้ค้นพบชิ้นส่วนหินแกะสลักภาพนางอัปสรา จากศตวรรษที่ 12 หลายชิ้น บริเวณอุทยานโบราณคดีอังกอร์ หรือนครวัด ในจังหวัดเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

ภาพไม่ระบุวันที่จากองค์การอัปสราแห่งชาติ : หินแกะสลักภาพนางอัปสราที่ถูกค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ณ ทางข้ามประตูตาคาบ ของปราสาทนครธม ในอุทยานโบราณคดีอังกอร์ จังหวัดเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา


การค้นพบหินแกะสลักดังกล่าว เกิดขึ้นบริเวณกำแพงทิศเหนือ ของทางข้ามประตูตาคาบ ( Takav Gate ) ในปราสาทนครธม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คณะนักโบราณคดีดำเนินการกำจัดพืช และเก็บกวาดดินจากโครงสร้างส่วนล่าง ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม


นายคิม เซง เภียกเดย หนึ่งในคณะนักโบราณคดี กล่าวว่า หินที่มีการแกะสลักภาพนางอัปสราหลายชิ้น และหินแกะสลักตกแต่งชิ้นอื่น ๆ ถูกใช้เป็นกำแพงทิศเหนือของทางข้ามดังกล่าว หินแกะสลักภาพนางอัปสราเหล่านี้คล้ายกับภาพนางอัปสราบนเสาของปราสาทบายน

ภาพไม่ระบุวันที่จากองค์การอัปสราแห่งชาติ : เจ้าหน้าที่ทำงานบริเวณพื้นที่บูรณะประตูตาคาบ ของปราสาทนครธม ในอุทยานโบราณคดีอังกอร์ จังหวัดเสียมราฐ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา

ขณะที่หินแกะสลักชิ้นอื่น มีรูปร่างเหมือนกับภาพแกะสลักที่ประดับโครงสร้างประตูตาคาบ โดยภาพแกะสลักนางอัปสราแบบบายน อาจถูกสร้างพร้อมกับประตูตาคาบและปราสาทบายน ระหว่างช่วงปลายศตวรรษที่ 12 และต้นศตวรรษที่ 13


ทั้งนี้ คณะนักโบราณคดีจะทำการขุดค้นในขั้นตอนถัดไป เพื่อค้นหาเทวรูปที่หล่นลงคูน้ำ บริเวณตอนเหนือของทางข้าม เพื่อนำเทวรูปเหล่านี้กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม


อนึ่ง ประตูตาคาบเป็นหนึ่งใน 5 ประตูของนครธม ซึ่งถูกสร้างในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยนครธมถือเป็นหนึ่งในปราสาทสำคัญของอุทยานโบราณคดีนครวัด ขนาด 401 ตารางกิโลเมตร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) เมื่อปี 2535.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA