สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ว่านายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศของสหรัฐ เยือนกรุงนิวเดลี เมื่อวันพุธ โดยมีการพบหารือกับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รมว.การต่างประเทศของอินเดีย เกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะความสนับสนุนของสหรัฐต่ออินเดีย ในการตอบสนองต่อวิกฤติโรคระบาดโควิด-19
นายสุพรหมณยัม ชัยศังกร ต้อนรับนายแอนโทนี บลิงเคน ที่ทำเนียบไฮเดอราบาด ในกรุงนิวเดลี
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ บลิงเคนได้พบกับนายเอ็นโกดุป ดองชุง ผู้แทนสำนักงานบริหารส่วนกลางทิเบต ( ซีทีเอ ) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต แม้จีนยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ แต่น่าจะมีความพอใจอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเมื่อปลายเดือน​ พ.ย.ปีที่แล้ว นายลอบซัง ซังเกย์ ผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เยือนกรุงวอชิงตันตามคำเชิญของทำเนียบขาว และดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต เคยเยือนกรุงวอชิงตัน เมื่อปี 2559 และพบกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐในเวลานั้นด้วย
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนทิเบตอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะผู้นำจีนและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากปีนี้เป็นวาระครบรอบ 70 ปี "การปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ" โดยพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 2494 
จวบจนถึงปัจจุบัน ประเด็นเกี่ยวกับทิเบตถือเป็น "เรื่องละเอียดอ่อนมาก" ในทางการเมืองและสังคมของจีน และรัฐบาลปักกิ่งมักแสดงความไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมา เมื่อสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก "แสดงความคิดเห็น" เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระบวนการเฟ้นหาบุคคลสืบทอดตำแหน่งดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต.

เครดิตภาพ : REUTERS